คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายกับเพื่อนนั่งรอเรืออยู่ที่ท่าน้ำ จำเลยกับ ส. เข้ามาทักทายผู้เสียหายแล้วจำเลยอุ้มผู้เสียหายไป ส. พูดขู่ห้ามไม่ให้เพื่อนผู้เสียหายช่วยแล้ววิ่งตามจำเลยไป จำเลยอุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วาก็วางผู้เสียหายลงแล้วกลับบ้านโดยไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอีก ส่วน ส.ฉุดผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการร่วมกับ ส. พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร และเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา การที่จำเลยวางผู้เสียหายแล้วกลับบ้าน มิใช่เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้เสียหายต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82
การกระทำของจำเลยและ ส. ดังกล่าว เป็นการกระทำด้วยความอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษให้และแม้ จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนแต่ในชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ คดีรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลย
ฟ้องว่าจำเลยกับพวกหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้หลังจากที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราแล้ว เมื่อฟังได้ดังกล่าวข้างต้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยไม่จำต้องมีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ณ ที่ใดอีก จึงเป็นการลงโทษจำเลยนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม มาตรา 185

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำผิดหลายกรรมต่างกันคือ ร่วมกันพรากนางสาวสายัน ผู้เยาว์อายุ 17 ปี ไปจากผู้ปกครองโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย กรมหนึ่ง ร่วมกันมีอาวุธปืนใช้ในการกระทำผิด ข่มขืนกระทำชำเรานางสาวสายัน ซึ่งมิใช่ภรรยาของจำเลยทั้งสองกับพวกโดยใช้มือบีบคอและขู่เข็ญบังคับมิให้ขัดขืน กรรมหนึ่ง และภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรานางสาวสายันแล้ว ยังได้ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังนางสาวสายันไว้ที่บ้านพักของผู้มีชื่อ ทำให้นางสาวสายันปราศจากเสรีภาพในร่างกาย อีกกรรมหนึ่ง ขอให้ลงโทษ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง และฐานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนให้มีการข่มขืนกระทำชำเรา แต่ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนให้มีการข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นบทหนัก ฯลฯ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังแต่ให้รอการลงโทษ กับให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า สำหรับคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ4 นาฬิกา ขณะที่นางสาวสายัน ผลสาลี่ ผู้เสียหายกับเพื่อนอีก 3 คนนั่งรอเรือที่จะโดยสารกลับบ้านอยู่ที่ศาลาท่าน้ำวัดไก่เตี้ย จำเลยที่ 1 ผู้เดียวเข้ามาทักทายผู้เสียหายแล้วกลับไป ต่อมาจำเลยที่ 1 กลับมาอีกพร้อมนายสมศักดิ์ ไวทยเมธีจำเลยที่ 1 ทักทายผู้เสียหายแล้วเข้าอุ้มผู้เสียหายพาไปทางด้านหลังโรงเรียนวัดไก่เตี้ย โดยนายสมศักดิ์ ไวทยเมธี พูดขู่ห้ามไม่ให้เพื่อนของผู้เสียหายเข้ามาช่วยแล้ววิ่งตามจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 อุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วาก็วางผู้เสียหายลงแล้วกลับบ้าน ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายอีก ต่อจากนั้นนายสมศักดิ์ ไวทยเมธี ได้ฉุดผู้เสียหายไปอีกประมาณ 3 เส้นแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย 1 ครั้ง เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ในการอุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วา แล้ววางผู้เสียหายลงและไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายอีกนั้น เป็นการร่วมกับนายสมศักดิ์ ไวทยเมธี พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 ซึ่งโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276ประกอบด้วยมาตรา 86 การที่จำเลยที่ 1 หยุดการกระทำของตน โดยวางผู้เสียหายลงแล้วกลับบ้านจึงมิใช่เป็นการยับยั้งเสียเองไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้เสียหายต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1และนายสมศักดิ์ ไวทยเมธี กระทำการด้วยความอุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองโดยจำเลยที่ 1 อุ้มผู้เสียหายไปต่อหน้าเพื่อนของผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยถึง 3 คน ตามพฤติการณ์และสภาพแห่งความผิดไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่ในชั้นศาลจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและอ้างว่าได้ให้การในชั้นสอบสวนเพียงว่าจำเลยที่ 1 ไปพบผู้เสียหาย แต่ไม่ได้ทำอะไร ทั้งยังบ่ายเบี่ยงว่านายสมศักดิ์ ไวทยเมธีเป็นผู้เข้าไปอุ้มผู้เสียหายแล้วผลักผู้เสียหายมาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เป็นความจริงโจทก์มีพยานหลักฐานแน่นหนามั่นคงโดยมีประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 4 ปาก คดีรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

แต่ที่ฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกกระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ที่บ้านของผู้มีชื่อทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ภายหลังจากที่ได้ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่อุ้มผู้เสียหายไปประมาณ10 วาแล้ววางผู้เสียหายลงและไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายอีก พฤติการณ์หลังจากนั้นเป็นการกระทำของนายสมศักดิ์ ไวทยเมธี ผู้เดียวที่ฉุดผู้เสียหายต่อไปอีกเป็นระยะห่างไกลถึง 3 เส้น แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปกักขังไว้ที่บ้านญาติของตน โดยจำเลยที่ 1 มิได้ตามไปเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องและข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 อุ้มผู้เสียหายไปประมาณ 10 วา ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ณ ที่ใดอีก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามมาตรา 310 นั้น เป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยนอกเหนือไปจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้จำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share