คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากการดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้าง โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถ ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค
ตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ข้อ 7.3 ว่า “ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรุปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง” ด้วย จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายอลงลาภ ผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้าโดยนำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร เข้าไปจอดในห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจความถูกต้องของบัตรจอดรถยนต์ตรงช่องทางออกอย่างเคร่งครัดและละเอียดรอบคอบเป็นเหตุให้รถยนต์ของนายอลงลาภสูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร หรือชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายอลงลาภ โชติสินผู้บริโภค
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้นไม่ได้เรียกเงินตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นสำหรับการให้การบริการสถานที่จอดรถจึงมิใช่ผู้ให้การบริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 โจทก์ไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องทุกข์จากนายอลงลาภจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และอำนวยความสะดวกการจราจรในการจอดรถของลูกค้าเท่านั้น การใช้บัตรผ่านเข้าออกก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มิใช่เป็นการรับฝากรถยนต์ของลูกค้าจึงไม่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาจึงไม่ต้องรับผิดกรณีรถยนต์สูญหาย ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกจำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างดีแล้วและจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังปิดประกาศเตือนการโจรกรรมรถยนต์ให้ลูกค้าทราบแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้ประมาทเลินเล่อแต่ได้ใช้ความระมัดระวังป้องกันโดยใช้ระบบบัตรผ่านเข้าออกลานจอดรถแล้วแต่นายอลงลาภเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อไม่ล็อกประตูรถ ไม่ติดสัญญาณป้องกันการโจรกรรมจึงถูกคนร้ายโจรกรรมรถได้ง่ายการที่รถยนต์ของนายอลงลาภสูญหายเพราะคนร้ายปลอมบัตรผ่านเข้าออกเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะป้องกันได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร หรือใช้ราคาเป็นเงิน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายอลงลาภ (ผู้บริโภค)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา นายอลงลาภผู้บริโภคขับรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 1ฎ-3500 กรุงเทพมหานคร ของผู้บริโภคเข้าไปจอดในที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี ของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถเอกสารหมาย จ.1 ฉบับบน จากจำเลยที่ 4 ที่ประตูทางเข้าห้าง แล้วผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้าง หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคกลับมาที่รถปรากฏว่ารถยนต์ของผู้บริโภคที่จอดไว้ดังกล่าวได้หายไปแล้ว จึงสอบถามจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ทางออกจากห้างที่เกิดเหตุและร่วมกับพนักงานรักษาความปลอดภัยคนอื่นช่วยค้นหาแต่ไม่พบรถยนต์ของผู้บริโภค จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 รุ่งขึ้นผู้บริโภคไปพบเจรจากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของห้างที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยของห้างที่เกิดเหตุแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบ ผู้บริโภคจึงไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อโจทก์ตามบันทึกคำร้องเรียน เอกสารหมาย จ.4 โจทก์นัดหมายผู้บริโภคและจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มาเจรจากันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ตามรายงานผลการเจรจาเอกสารหมาย จ.๘ จึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมของโจทก์พิจารณากลั่นกรองแล้วมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้บริโภคจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการดำเนินคดี ตามรายงานการประชุมและคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.19 โดยได้แจ้งให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบแล้ว ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.20 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็นำสืบว่า การก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ 1 คันต่อพื้นที่ทุก ๆ 20 ตารางเมตร จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอดรถในห้างดังกล่าว ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกจากห้างต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้างของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่า ไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามบทบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าในห้างจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมากและนอกจากรถโจทก์แล้วยังมีนายประสิทธิ์ นายพินิจและนายสถาวรซึ่งขับรถเข้าไปจอดในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 แล้วรถยนต์ที่จอดสูญหายไปด้วยการดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 โจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อผู้บริโภคและต้องรับผิดต่อผู้บริโภคหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขามีนบุรี ของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถเอกสารหมาย จ.1 ฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้างเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถพิพาท ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงแจ้งให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทราบและช่วยกันค้นหาแต่ไม่พบจึงไปตรวจสอบที่ประตูทางออกพบว่ามีบัตรจอดรถที่มีหมายเลขทะเบียนตรงกับ
รถของผู้บริโภคอีกฉบับหนึ่งอยู่ที่ประตูทางออก ตามบัตรจอดรถเอกสารหมาย จ.1 ฉบับล่าง ซึ่งขณะที่พบเขียนแต่หมายเลขทะเบียนรถโดยไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษร “1ฎ” แต่อย่างใด ต่อมานายบุญเกียรติพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 จึงได้เขียนขึ้นในภายหลัง ทั้งขณะเกิดเหตุมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างเดินตรวจตราอยู่ในบริเวณลานจอดรถด้วย เห็นได้ว่า การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถห้างจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยได้ออกบัตรจอดรถให้ผู้นำรถมาจอดโดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรจอดรถที่ออกให้เป็นบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถที่เกิดเหตุโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภคสำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะนำสืบว่าตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้นก็ตาม แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุด้วย นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 7.3 ว่า “ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง” ด้วย จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 ที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share