คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทยรับโอนกิจการของกรมรถไฟกระทรวงคมนาคมมาโดยผลของกฎหมายจึงไม่ใช่ลักษณะโอนหนี้และฉะนั้นกรมรถไฟจึงไม่ต้องแจ้งการโอนหนี้ให้ลูกหนี้ทราบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นกรมรถไฟ บัดนี้เปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคลรับโอนกิจการมาตาม พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เมื่อโจทก์ยังเป็นกรมรถไฟอยู่จำเลยทำสัญญาเช่าโรงเก็บสินค้าของโจทก์มีกำหนด 3 ปี ตามสัญญามีว่า เมื่อมีกรณีจำเป็นอย่างยิ่งผู้ให้เช่ามีสิทธิจะเลิกสัญญาเรียกโรงเก็บสินค้าคืนได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เมื่อเปลี่ยนเป็นการรถไฟฯ แล้วโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าจำเลยยังไม่คืนโรงเก็บสินค้าให้ ขอให้บังคับจำเลยคืนโรงเก็บสินค้าและใช้ค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายให้แก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า การโอนหนี้ระหว่างกรมรถไฟและการรถไฟฯ เกี่ยวกับการเช่าของจำเลยมิได้ทำกันเป็นหนังสือ ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบและต่อสู้ในข้ออื่น ๆ อีก

ศาลแพ่งเห็นว่าตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 มาตรา6(1), 10 โจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมรถไฟเดิมโดยบทบัญญัติของกฎหมายอยู่ในตัวไม่ต้องทำพิธีโอนหนี้กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโจทก์ก็ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนโรงเก็บสินค้าและใช้ค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์หรือกรมรถไฟต้องแจ้งการโอนหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 และว่าพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 หาได้ลบล้างหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ไม่ นั้น เห็นว่ากรณีนี้หาใช่เรื่องการโอนหนี้ตามความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 ไม่ การรถไฟฯ รับโอนกิจการของกรมรถไฟมาโดยอำนาจของกฎหมาย ไม่ใช่ลักษณะโอนหนี้ ส่วนฎีกาข้ออื่นก็เห็นพ้องกับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา จึงพิพากษายืน

Share