แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขอให้โจทก์ลงลายมือในใบมอบอำนาจโดยหลอกลวงว่าเพื่อจำเลยจะได้ใช้ในการชำระภาษีอากรแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ลงลายมือมอบให้จำเลยไปแล้ว จำเลยกลับไปกรอกข้อความในใบมอบอำนาจเป็นว่าโจทก์มอบให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจัดการโอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยไป ดังนี้มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกงหรือปลอมหนังสือแต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามกฎหมายอาญา มาตรา 315
โจทก์บรรยายฟ้องไปในลักษณะฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมหนังสือแต่ในฟ้องของโจทก์นั้นเองจับใจความได้ว่าโจทก์กล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำผิด ดังข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมหนังสือแต่เป็นความผิดฐานยักยอกซึ่งโจทก์มิได้อ้างบทความผิดฐานยักยอกมาถือได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม มาตรา192 วรรค 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6)2499มาตรา13
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นบุตรของโจทก์และอยู่ร่วมบ้านเรือนเดียวกับโจทก์ ทั้งเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากโจทก์ให้ช่วยเหลือดูแลทรัพย์สมบัติของโจทก์ตลอดจนจัดการชำระภาษีอากรต่าง ๆ แทนโจทก์ด้วย เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึง 12 ตุลาคม 2493 เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาทุจริตเอาความเท็จมากล่าวหลอกลวงโจทก์ว่าในการที่จำเลยจะจัดการชำระค่าภาษีอากรสำหรับที่ดินบ้านเรือนและห้องเช่าแทนโจทก์นั้นจำเป็นที่โจทก์จะต้องมอบอำนาจให้จำเลยด้วย และจำเลยได้นำกระดาษแบบพิมพ์มาให้โจทก์ลงลายมือโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงดังจำเลยกล่าวจึงพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงในกระดาษที่จำเลยนำมานั้นให้แก่จำเลยไป แล้วจำเลยกับพวกได้สมคบกันปลอมหนังสือสำคัญโดยกรอกข้อความเติมให้เป็นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยแล้วจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงหนังสือต่อเจ้าพนักงานที่ดินของให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงได้จัดการโอนให้ ทำให้โจทก์เสียหายเหตุเกิดที่ต.มหานาค อ.ป้อมปราบฯ จ.พระนคร โจทก์พึ่งทราบการกระทำผิดจองจำเลยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2496 และได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานแล้วขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญามาตรา 304, 222, 224, 225, 227 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายอาญา 2477 (ฉบับที่ 5 มาตรา 3)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตาม กฎหมายอาญา มาตรา 304 เพราะโจทก์เต็มใจกดลายพิมพ์นิ้วมือลงในใบมอบอำนาจแล้วมอบให้จำเลยไปกรอกข้อความเอาเอง เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้มีความไว้วางใจให้จำเลยกรอกข้อความลงในใบมอบอำนาจนั้นเองได้ แต่จำเลยไปกรอกผิดความประสงค์ของโจทก์ กรณีเช่นนี้จะเอาผิดกับจำเลยฐานปลอมหนังสือตาม มาตรา 222, 224, 225, 227 ก็ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์มีข้อความขัดว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 315 แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ และคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเพราะโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในอายุความแล้ว ที่สุดพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 314 จำคุก 1 ปี แต่จำเลยกระทำแก่ทรัพย์ของญาติที่สืบสายโลหิต จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม มาตรา 54 คงให้จำคุก 6 เดือน จำเลยเป็นหญิงและไม่เคยต้องโทษมาก่อน ทั้งมีบุตรอยู่ในความอุปการะถึง 5 คน จึงสมควรรอการลงโทษไว้ภายใน 3 ปีตามกฎหมายอาญา มาตรา 41-42 ที่แก้ไขใหม่
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราที่ถูกต้องได้หรือไม่
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อ กฎหมายดังนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนก็คือ จำเลยได้ขอให้โจทก์ลงลายมือในใบมอบอำนาจโดยบอกว่าเพื่อจำเลยจะได้ใช้ในการชำระภาษีอากรแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ลงลายมือมอบให้จำเลยไปแล้ว จำเลยกลับไปกรอกข้อความในใบมอบอำนาจเป็นว่าโจทก์มอบให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจัดการโอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยไปข้อเท็จจริงดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่ามิใช่ ความผิดฐานฉ้อโกงหรือปลอมหนังสือดังบทกฎหมายที่โจทก์อ้างท้ายฟ้อง แต่เป็นความผิดฐานยักยอกลายมือตามกฎหมายอาญา มาตรา 315 ซึ่งอ้างโยงให้ลงโทษตาม มาตรา 314 ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นนั้นจะปรับว่าเป็นกรณีอ้างฐานความผิดและบทมาตราผิดได้หรือไม่ศาลฎีกาได้พิจารณาฟ้องของโจทก์แล้ว คงจับใจความได้ว่าโจทก์กล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดดังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เมื่อโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้ดังฟ้อง แต่โจทก์อ้างบทกฎหมายให้ลงโทษจำเลยเป็นฐานฉ้อโกงและปลอมหนังสือ จึงเห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม มาตรา 192 วรรค 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6)2499 มาตรา 13 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยยืนตามศาลชั้นต้นนั้นเป็นการถูกต้องแล้วพิพากษายืนให้ยกฎีกาจำเลย