คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ใดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดสำหรับสินค้าจำพวกหนึ่งตามรายการท้าย พ.ร.บ.แล้วจะถือว่าคุ้มครองไปทั่วทุกจำพวกไม่ได้ถ้ามีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะคล้ายคลึงกันบ้างในสินค้าจำพวกอื่นไว้ก่อนแล้ว ตนจะมาขอให้ศาลสั่งว่าตนมีสิทธิดีกว่าในการที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกหลังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ารูป “คนแบกวัว” ในสินค้าชื่อ “ไมโล” ซึ่งเป็นวัตถุบำรุงกำลังและได้จดทะเบียนไว้แล้วในจำพวก 42 ทะเบียนเลขที่ 8335/4654 เมื่อพ.ศ.2481 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปคนแบกวัวสำหรับสินค้าของจำเลยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2494 เหมือนกับของโจทก์ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2495 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวก3 แห่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าโดยใช้รูปคนแบกวัวสำหรับสินค้าไมโลเช่นเดียวกับที่โจทก์ได้จดไว้แล้วอีก กองเครื่องหมายการค้า กระทรวงเศรษฐการได้แจ้งให้โจทก์ จำเลยตกลงกันโจทก์จำเลยตกลงกันไม่ได้ จึงฟ้องขอให้ห้ามกองเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนของจำเลย และให้รับจดทะเบียนของโจทก์

จำเลยให้การว่ารูปเครื่องหมายการค้าไม่เหมือนกัน และว่าโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวก 3 ภายหลังจำเลยเป็นการไม่สุจริต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์จดทะเบียนรูปคนแบกวัวไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2481 ในจำพวกที่ 42 ท้าย พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกอาหารหรือเครื่องปรุงอาหาร ส่วนจำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำพวกเคมีวัตถุสำหรับใช้เป็นโอสถและผสมโอสถต่อมาโจทก์ได้มาขอจดทะเบียนเครื่องหมายที่จดไว้แล้วในจำพวกที่ 42 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 บ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวกใดแล้วจะมาขอให้คุ้มครองไปทุกจำพวกไม่ได้ จำเลยจดทะเบียนในจำพวกที่ 3 ก่อนโจทก์ แม้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับของโจทก์บ้างก็ไม่น่าจะเห็นว่าเป็นการหลอกลวงประชาชนให้หลงผิด พิพากษายืน

Share