แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี” กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า “หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้ โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชีเป็นเวลานาน โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชอบที่จะใช้สิทธิทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาโดยให้เวลาพอสมควรแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้ใช้สิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาโดยตรงต่อจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่โจทก์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชี จึงมีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งมีการหักทอนบัญชีตามสัญญาเป็นครั้งสุดท้าย
โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเป็นระยะๆ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไปของประกาศโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินในอัตราลอยตัว คือ ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (ที่ใช้บังคับในขณะนั้น) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งว่าการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ยังไม่ถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี และบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,122,814.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,931,712.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 32246 เลขที่ดิน 1197 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมทุกฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 781,610.35 บาท ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 แบบไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 799,082.32 บาท ตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 32246 เลขที่ดิน 1197 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ หากไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ประเด็นฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเพราะมิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี เป็นการดำเนินการชำระบัญชีโดยฉ้อฉลเป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงผิดรับจดทะเบียนเลิกบริษัท ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่เลิกบริษัท คดีจึงไม่ขาดอายุความดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท หมวด 5 การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด มาตรา 1249 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดีแม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็น เพื่อการชำระบัญชี” กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า “หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนี้ชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น รัฐยังได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำเช่นต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุก ๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชี หรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น จึงเห็นได้ว่า สำหรับคดีนี้ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์อีกด้วย โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี มิได้ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทไปยังโจทก์ ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี แต่มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับและข้อเท็จจริงย่อมเป็นยุติตามที่ศาลฎีกาได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ซึ่งเมื่อการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยจำเลยที่ 2 ผู้ชำระบัญชีจงใจไม่ปฏิบัติ และตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริตมีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ ดังนี้ เมื่อการปรับใช้กฎหมายพึงต้องอนุวัตให้ต้องตามเจตนารมณ์ที่บัญญัติกฎหมายนั้นตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วในเบื้องต้น จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 ดังกล่าว อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้ และโจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงกำหนดให้นายทะเบียนต้องมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาจดทะเบียนเลิกบริษัทเอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลอยู่จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาหรือไม่ เห็นว่าตามใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัด จำเลยที่ 1 เดินสะพัดบัญชีตามสัญญามาโดยตลอด ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2538 มีรายการจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 7,504 บาท ปรากฏยอดหนี้ในวันนี้จำนวน 791,071.30 บาท และเมื่อโจทก์หักทอนบัญชีในวันที่ 31 เดือนเดียวกัน มีดอกเบี้ยจำนวน 9,660.81 บาท จึงปรากฏยอดหนี้ตามสัญญาจำนวน 800,732.11 บาทครั้นวันที่ 16 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีดำเนินการขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีโดยนำเงินสดเข้าฝากจำนวน 160,000 บาท และในวันเดียวกันก็ได้ถอนเงินออกไป 2 คราว คราวละ 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 เดือนเดียวกัน โจทก์ทำการหักทอนบัญชีมีดอกเบี้ย 10,390.99 บาท รวมยอดหนี้ ณ วันนั้น จำนวน 792,001.34 บาท หลังจากนั้นไม่ปรากฏการเดินสะพัดบัญชีอีก โดยคงมีแต่ยอดดอกเบี้ยที่โจทก์คำนวณเรียกเก็บทุกเดือนเท่านั้น กรณีเช่นนี้ชี้ชัดว่าเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชีเป็นเวลานาน โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชอบที่จะใช้สิทธิทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาโดยให้เวลาพอสมควรแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้ใช้สิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาโดยตรงต่อจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่โจทก์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งมีการหักทอนบัญชีตามสัญญาเป็นครั้งสุดท้าย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาโดยอ้างเหตุว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจำเลยที่ 1 เพิ่งหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นควรไม่รับวินิจฉัย
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินนั้น เห็นว่า ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ย ปรากฏว่าโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเป็นระยะ ๆ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไปของประกาศโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินในอัตราลอยตัวคือในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป(จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (เดิม) และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจากต้นเงิน 799,082.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินเพียง 653,336.21 บาท การกำหนดต้นเงินในการคำนวณดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 792,001.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน 799,082.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไปตามประกาศโจทก์ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 653,336.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์เช่นกัน หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนทั้งสองสัญญาให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 32246 เลขที่ดิน 1197 ตำบลประชาธิปัตย์ (คลองรังสิตฝั่งใต้) อำเภอธัญบุรี (กลางเมือง) จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2