คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148(3) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลซึ่งมีอยู่ทั่วไปที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลา ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 การนำคำฟ้องมายื่นใหม่ในกรณีนี้ หมายถึง การนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเป็นจำเลยได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิม ไม่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งโดยตรงเป็นจำเลยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ 37/2542 ของจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คงรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 37/2542 ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 กำหนดเวลา 30 วันดังกล่าวไม่ใช่อายุความหรือระยะเวลาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 หรือระยะเวลาตามที่ศาลแรงงานกำหนด จึงไม่อาจย่นหรือขยายได้ และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3111/2543 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานั้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยเพียงลำพัง ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความ และศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย คำพิพากษาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์จะถือประโยชน์จากระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้โจทก์ฟ้องใหม่ในคดีนั้นมาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยไม่ได้ โจทก์ยังต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามกำหนดเดิม เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้เกินกำหนดดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลที่มีอยู่ทั่วไปในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะและไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 และในกรณีนี้การนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 นั้น หมายถึง การนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิมได้แก่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3111/2543 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 37/2542 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 และโจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นจำเลยได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิม ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งดังกล่าวโดยตรงเป็นจำเลยเข้ามาในคดีนี้ด้วยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมก็ตาม เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายในระยะเวลาที่ศาลแรงงานกลางกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share