แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าทำให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ช.เสียหาย ขอให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องใจความว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ที่ดินโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตนิคมท้ายเหมืองที่บริษัท ง. ได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ เมื่อหมดอายุประทานบัตรแล้วบริษัท ง. และโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ ช. จำเลยทั้งห้าเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน และมุ่งหวังจะได้สิทธิการเช่าที่ดินจากนิคมท้ายเหมือง ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากคดีอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าชดเชยในการขนย้ายให้จำเลยทั้งห้าและทำแผนที่ ต่อมาคู่ความแถลงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าฎีกาขอให้รอการลงโทษ ดังนี้ เมื่ออ่านคำให้การของจำเลยทั้งห้ารวมกับคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำให้การแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ายังคงโต้แย้งว่าที่ดินตามฟ้องมิใช่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ช. เหตุที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพอาจเป็นเพราะคดีอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะมีการชดใช้ค่าขนย้ายให้แก่จำเลยทั้งห้าตามที่ทนายโจทก์แถลง และจำเลยทั้งห้าอาจเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิด คำให้การของจำเลยทั้งห้ายังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การที่รับสารภาพว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานคดีจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 358, 359
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358 และ 359 (ที่ถูกประกอบมาตรา 83) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยกฟ้องข้อหาร่วมกันขุดทำลายถนนที่โจทก์ใช้ในการเข้าออก
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในวันนัดพร้อม จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ พร้อมทั้งยื่นคำร้องใจความว่า จำเลยทั้งห้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินในเขตนิคมท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ โจทก์ได้ขุดร่องที่ดินเพื่อทำประโยชน์แต่มิได้ทำประโยชน์ในที่ดินต่อมา ที่ดังกล่าวมิใช่ที่ดินโจทก์ แต่เป็นที่ดินที่บริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด ได้รับประทานบัตรในการทำเหมือนแร่เมื่อหมดอายุประทานบัตรแล้ว บริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด และโจทก์มิได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของนายชัยสิน ที่โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายเป็นเงิน 400,000 บาท จึงไม่เป็นความจริง จำเลยทั้งห้าเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน และมุ่งหวังจะได้สิทธิการเช่าที่ดินจากนิคมท้ายเมือง จึงขอให้ศาลชั้นตั้นลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การจำเลยทั้งห้า ทนายโจทก์แถลงขอเลื่อนคดีเนื่องจากคดีอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าชดเชยในการขนย้ายให้จำเลยทั้งห้าและทำแผนที่ ต่อมาคู่ความแถลงว่าคดีไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษา เห็นว่า คำให้การของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวเมื่ออ่านรวมกับคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำให้การแล้วจะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ายังคงโต้แย้งว่าที่ดินตามฟ้องมิใช่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายชัยสินจึงมิใช่ที่ดินของโจทก์ซึ่งฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชัยสิน เหตุที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพอาจเป็นเพราะคดีอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะมีการชดใช้ค่าขนย้ายให้แก่จำเลยทั้งห้าตามที่ทนายโจทก์แถลง และจำเลยทั้งห้าอาจเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิด คำให้การของจำเลยทั้งห้าจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน คดีจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง