แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกิดเหตุแต่เกษียณอายุไปแล้วได้ทำหนังสือต่อว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการขณะเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องการประเมิน ส. ครูในโรงเรียนว่า “ลองเอาแบบประเมินครูมาประเมินโจทก์ร่วม ให้คะแนนอย่างยุติธรรมดูซิว่าครูกับตัวโจทก์ร่วมมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โจทก์ร่วมทราบไหมว่าบางข้อเขาไม่มีหน้าที่ต้องทำและไม่ได้รับมอบหมายให้คะแนนศูนย์ มันยุติธรรมหรือไม่…” ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงโจทก์ร่วมว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูว่า ประเมินอย่างไม่ยุติธรรม ซ้ำเติมไม่มีเมตตาธรรมต่อครู ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมในทางไม่ดี น่าระอาไม่เหมาะที่จะเป็นครูผู้บริหารของโรงเรียน การประเมินดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย และแม้จำเลยจะเคยเป็นครูผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวมาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของโรงเรียนแต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายศักดา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 328 (ที่ถูก มาตรา 328) ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมรับราชการครูตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง จำเลยเคยรับราชการครูที่โรงเรียนอนุบาลท่าหลวงจนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการ จำเลยเป็นผู้จัดทำเอกสาร แล้วนำไปให้โจทก์ร่วมกับครูโรงเรียนอนุบาลท่าหลวงอีกหลายคน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าข้อความใน แผ่นที่ 4 ที่มีข้อความเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานครูอัตราจ้างของโรงเรียนอนุบาลท่าหลวง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ แผ่นที่ 4 ที่มีการระบุข้อความเกี่ยวกับการประเมินครูอัตราจ้างที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินว่าให้โจทก์ร่วมลองเอาแบบประเมินครูอัตราจ้างมาประเมินตนเอง ให้คะแนนอย่างยุติธรรมดูซิว่าครูอัตราจ้างที่โจทก์ร่วมประเมินกับตัวโจทก์ร่วมเองมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด โจทก์ร่วมทราบไหมว่าบางข้อเขาไม่มีหน้าที่ต้องทำและไม่ได้รับมอบหมายแล้วให้คะแนน 0 มันยุติธรรมหรือไม่…” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นการกล่าวถึงโจทก์ร่วมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของนายสุนทร ครูอัตราจ้างโรงเรียนอนุบาลท่าหลวงอย่างไม่ยุติธรรมเป็นการซ้ำเติมนายสุนทรและไม่มีเมตตาธรรม ซึ่งข้อความดังกล่าวข้างต้นนั้นมีความหมายให้ผู้อื่นที่ได้อ่านหรือได้ฟังเกิดความรู้สึกและเข้าใจต่อตัวโจทก์ร่วมว่ามีพฤติกรรมไปในทางไม่ดีไม่เหมาะสมที่จะเป็นครูผู้บริหารของโรงเรียน น่าระอากับพฤติกรรมของโจทก์ร่วม นอกจากนี้หากแม้ว่าโจทก์ร่วมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตาม การประเมินในเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลย เป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับการประเมินจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความเพื่อป้องกันส่วนได้เสียของตน แม้ทางนำสืบของจำเลยจะอ้างว่าจำเลยกระทำไปในฐานะที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียนท่าหลวงมาก่อนก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของโรงเรียนอนุบาลท่าหลวงแต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น