แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้บัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) ที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่ขณะที่ทำหนังสือมอบอำนาจซึ่งมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว บัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรที่บังคับใช้ในเวลานั้นกำหนดให้ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท ก็ตาม ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้เงิน แก่บริษัท ข้าพเจ้ายอมค้ำประกันและรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อ และยอมให้บริษัทผ่อนเวลาชำระหนี้ ผ่อนผันการชำระหนี้ได้ตามจำนวนครั้งหรือตามเงื่อนไขที่บริษัทจะเห็นสมควร” แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยินยอมให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่รู้เห็นด้วย จำเลยที่ 2 ยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์เพราะหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระแก่โจทก์ แต่โจทก์ผ่อนผันลดหย่อนให้มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 59,847 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและเลิกสัญญากับโจทก์ โดยโจทก์ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและเมื่อคิดหักค่าเช่าซื้อปรากฏว่าโจทก์เสียหายเพียง 38,713 บาทจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ หากผิดนัดอีก ให้ชำระเป็นเงิน59,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไป จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 59,847 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของโจทก์ปัญหาข้อแรกมีว่าหนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โจทก์มอบอำนาจให้นายวรวิทย์เป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินของโจทก์แทนโจทก์ได้ และให้มีอำนาจทำการอื่นใดเกี่ยวกับการเช่าซื้อนี้เช่าเดียวกันนับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว แม้บัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) ที่ใช้บังคับในปัจจุบันกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท แต่ขณะที่มีการทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวบัญชีอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรที่บังคับใช้ในเวลานั้นกำหนดให้ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท เท่านั้นก็ตาม ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อนายวรวิทย์ลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์สัญญาเช่าซื้อจึงมีผลผูกพันคู่ความทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นโมฆะ
ปัญหาสุดท้ายที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1ทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นด้วย แต่เมื่อตรวจพิจารณาหนังสือค้ำประกันซึ่งมีข้อความว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดใช้เงินแก่บริษัท ข้าพเจ้ายอมค้ำประกันและรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการ และยอมให้บริษัทผ่อนเวลาชำระหนี้ ผ่อนผันการชำระหนี้ได้ตามจำนวนครั้งหรือเงื่อนไขที่บริษัทจะเห็นสมควร”แสดงว่า จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันยินยอมให้โจทก์กับจำเลยที่ 1ผ่อนชำระหนี้กันอย่างไรก็ได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้แม้จำเลยที่ 2 จะไม่รู้เห็นด้วย จำเลยที่ 2 ก็ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวด้วย เพราะหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระให้แก่โจทก์แต่โจทก์ผ่อนผันลดหย่อนให้ มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น