คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3631/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องโดยโจทก์ใช้สิทธิเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือในเดือนภาษีมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 เกินไปเดือนละ20,305.11 บาท แต่โจทก์ไม่มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระอีกทั้งผลต่างจำนวนเงิน 20,305.11 บาท ของภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์นำมาเครดิต นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้รับเงินภาษีจำนวนดังกล่าวคืนไปจากจำเลยแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรืออ้างว่ามีสิทธิได้รับประโยชน์จากเครดิตภาษีจำนวนดังกล่าวด้วย และภายหลังโจทก์ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรจำเลยว่า มีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการขอเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ โจทก์ก็ได้ยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องสำหรับเดือนภาษีดังกล่าวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของจำเลย จึงถือได้ว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเดิมได้ถูกยกเลิกไปโดยให้ใช้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขจำนวนดังกล่าวที่ถูกต้องแล้ว ตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมเมื่ออ่านรวมกันแล้วก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 ให้ถูกต้องแล้วโจทก์จึงหาจำต้องระบุให้ชัดเจนว่าผิดพลาดอย่างไรและต้องแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามการประเมิน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการค้าโดยได้เสียภาษีการค้าและเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 โดยทางราชการยอมให้นำภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือของโจทก์ระหว่างวันที่1 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ที่ได้เสียภาษีการค้าไว้ก่อนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โจทก์ได้นำภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือดังกล่าวมาขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535เป็นจำนวนเงินเดือนละ 446,816.14 บาท ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มว่าในเดือนมกราคม 2535โจทก์มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายจำนวน 90,257.41 บาท และเป็นภาษีที่ชำระเกิน เมื่อรวมกันภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์ขอเครดิตไว้เป็นเงิน 446,816.14 บาท แล้วเป็นภาษีสุทธิชำระเกินจำนวน 537,073.55 บาท ซึ่งโจทก์ยกไปเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนถัดไปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2535 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2535 โจทก์มีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อจำนวน 72,000.36 บาท แต่โจทก์อ้างว่ามีภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์ขอเครดิตไว้จำนวน446,816.14 บาท รวมกับเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มยกมาจากเดือนมกราคม 2535 จำนวน 537,073.55 บาท รวมเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ทั้งสิ้น 983,889.69 บาท เมื่อหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ที่โจทก์จะต้องชำระแล้วคงเหลือภาษีสุทธิชำระเกินจำนวน 911,889.33 บาท ซึ่งโจทก์ยกไปเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนถัดไป ครั้นถึงเดือนเมษายน 2535 สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่าสิทธินำเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535มีจำนวนเงินเพียงเดือนละ 426,511.03 บาท โจทก์จึงได้ยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 โดยระบุตัวเลขจำนวนภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่ขอเครดิตจากเดิม 446,816.14 บาท เป็น426,511.03 บาท และระบุตัวเลขจำนวนภาษีสุทธิชำระเกินลดลงตามผลต่างดังกล่าวกับระบุคำว่า “ยื่นแก้ไขเพิ่มเติม” ลงในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ยื่นใหม่ด้วย ต่อมาเดือนสิงหาคม 2537 เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงโจทก์รวม 2 ฉบับ ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 จำนวน 20,305.11 บาทพร้อมเงินเดือนและเบี้ยปรับ และเดือนกุมภาพันธ์ 2535ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 20,305.11 บาท พร้อมเงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ โจทก์ไม่เห็นชอบด้วยและได้อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเห็นชอบกับการประเมิน แต่ให้งดเบี้ยปรับ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ครั้งแรกโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคม 2535โดยมีภาษีขาย 97,702.12 บาท และภาษีซื้อ 187,959.52 บาทเป็นภาษีที่ชำระเกิน 90,257.41 บาท เมื่อรวมกับภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์ขอเครดิตไว้เป็นจำนวน 446,816.14 บาทเป็นภาษีสุทธิที่ชำระเกิน 537,073.55 บาท ซึ่งโจทก์ได้ยกไปเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนถัดไปคือเดือนกุมภาพันธ์ 2535ซึ่งโจทก์มีภาษีขาย 235,782.19 บาท และภาษีซื้อ 163,781.83 บาทโจทก์จึงมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้ออยู่ 72,000.36 บาท และเป็นภาษีที่จะต้องชำระเพิ่มแต่โจทก์มีภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์ขอเครดิตไว้เป็นเงิน 446,816.14 บาท รวมกับเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มมาจากเดือนมกราคม 2535 จำนวน 537,073.55 บาทรวมเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ทั้งสิ้น 983,889.69 บาทหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ที่โจทก์จะต้องชำระแล้วยังคงเหลือภาษีสุทธิชำระเกิน 911,889.33 บาทซึ่งโจทก์ได้ยกไปเป็นเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนถัดไปคือเดือนมีนาคม 2535 แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง คือสิทธิเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งว่าในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 มีจำนวนเดือนละ426,511.03 บาท ไม่ใช่เดือนละ 446,816.14 บาท ซึ่งโจทก์ขอเครดิตเกินไปเป็นจำนวน 20,305.11 บาท ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังโจทก์ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานของจำเลยว่ามีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการขอเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ โจทก์ก็ได้ยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 โดยระบุคำว่า”ยื่นแก้ไขเพิ่มเติม” ลงในแบบดังกล่าวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของจำเลย ถือได้ว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับเดิมได้ถูกยกเลิกไปโดยให้ใช้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขที่ถูกต้องแล้วทั้งผลต่างจำนวนเงิน 20,305.11 บาท ของภาษีการค้าของสินค้าคงเหลือที่โจทก์นำมาเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์แสดงรายการไว้ในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภ.พ.30 สำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 ฉบับที่ยื่นครั้งแรกกับฉบับที่ยื่นแก้ไขใหม่ครั้งหลังปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนไปจากจำเลยและผลของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม “ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” ของโจทก์ดังกล่าว ทำให้เครดิตภาษีหรือภาษีสุทธิชำระเกินของโจทก์เดือนมกราคม 2535 ลดลงจาก 537,073.55 บาท เป็น516,768.44 บาท และเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ลดลงจาก911,889.33 บาท เป็น 871,279.11 บาท ทั้งตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนมีนาคม 2535 ปรากฏว่าโจทก์ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรเขตท้องที่เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2535 อันเป็นวันก่อนการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 ฉบับยื่นแก้ไขเพิ่มเติมและตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนเมษายน 2535รายการภาษีที่ชำระเกินยกมาจากเดือนมีนาคม 2535 เป็นจำนวน697,434.31 บาท ซึ่งต่ำกว่าภาษีสุทธิชำระเกิน (ยกไป) ของเดือนมีนาคม 2535 ที่ระบุจำนวน 738,044.89 บาท เป็นจำนวน40,610.22 บาท เท่ากับจำนวนที่โจทก์ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมแสดงว่าโจทก์นำจำนวนเครดิตภาษีที่ลดลงมาแก้ไขในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 สำหรับเดือนเมษายน 2535 เป็นต้นมา เครดิตภาษีจำนวน 40,610.22 บาท ที่ลดลงตามรายการ”ยื่นแก้ไขเพิ่มเติม” ของโจทก์ดังกล่าวก็คือจำนวนภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกให้โจทก์ชำระนั่นเองนอกจากโจทก์ไม่ได้รับเงินภาษีจำนวนดังกล่าวคืนไปจากจำเลยแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรืออ้างว่ามีสิทธิได้รับประโยชน์จากเครดิตภาษีจำนวนดังกล่าวด้วย เหตุที่มีกรณีผิดพลาดก็เพราะโจทก์ไม่เข้าใจและไม่ทราบขั้นตอนในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานจำเลยในเรื่องระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะที่มีการเริ่มใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและการเครดิตภาษีใหม่ ๆ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ยังมีความเห็นว่า โจทก์ไม่เข้าใจระเบียบวิธีปฏิบัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์มีเจตนาสุจริตต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้อง ทั้งไม่มีระเบียบหรือกฎหมายห้ามว่า ถ้าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยแล้วมีข้อผิดพลาดหรือมีรายการไม่ถูกต้อง ผู้ประกอบการไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อผิดพลาดหรือรายการไม่ถูกต้องนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหากโจทก์ประสงค์จะขอแก้ไขเพิ่มเติมแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535 โจทก์จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้ผิดพลาดอย่างไรโจทก์จะแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไรนั้น เห็นว่า ตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมเมื่ออ่านรวมกันแล้วก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการยื่นแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2535ให้ถูกต้องแล้ว หาจำต้องระบุให้ชัดเจนว่าผิดพลาดอย่างไรและต้องแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหนดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่
พิพากษายืน

Share