แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ถึงความผิดอื่นที่เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันและยุติแล้วได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคแรก ประกอบมาตรา215 และมาตรา 225
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกนายอำไพ หรือไพ สิงห์สถิตย์ เป็นจำเลยที่ 1 เรียกนายฝ้ายหรือสำลี โคกาอินทร์ เป็นจำเลยที่ 2 และเรียกนายดาบตำรวจสุเทพ แสงเพลิง เป็นจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด .45 (11 มม.) ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ1 กระบอก กับมีกระสุนปืนขนาด .45 |11 มม.) จำนวนหลายนัดไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายและจำเลยที่ 3 ได้พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรและโดยมิได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์โดยจำเลยทั้งสามได้รับจ้างนายปุ๊กหรือศักดิ์ชัย ให้ร่วมกันฆ่านายทรงชัย ผู้ตาย จำเลยทั้งสามจึงได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงทำร้ายร่างกายผู้ตายจำนวน 2 นัด โดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในทันที และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงทำร้ายร่างกายพลตำรวจสุนทร ผู้ที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ตายจำนวน 2 นัด โดยมีเจตนาฆ่า พลตำรวจสุนทรได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,80, 83, 91, 288, 289, 297 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และจำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 288, 289, 297, 371พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 และริบของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีเลขดำที่ 1233/2530 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 289(4), 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ให้ลงโทษประหารชีวิต และจำเลยที่ 3มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72ทวิ จำคุก 1 ปี แต่ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 แล้วจึงไม่นำโทษจำคุกกระทงอื่นมารวมอีก จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52(1) ของกลางริบ คำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1233/2530 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา8 ทวิ วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ไปถึงความผิดของจำเลยที่ 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคแรก ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์