คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 239/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับทิศทางสิ่งของรถยนต์ที่เกิดเหตุจากข้อความที่ว่า “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ขับจากจังหวัดตากมุ่งหน้ามาจังหวัดกำแพงเพชร” เป็น “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดกำแพงเพชรมุ่งหน้ามาจังหวัดตาก” เป็นการแก้ไขข้อเท็จจริงให้เป็นตามความเป็นจริงไม่ก่อให้เกิดผลตามกฎหมายที่แตกต่างกัน เพราะจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับอยู่แล้ว การแก้ไขดังกล่าวเป็นเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องในคำฟ้องเพียงเล็กน้อยไม่ทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ศาลสั่งอนุญาตจึงชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยหมายเลขทะเบียน ม-0144 กำแพงเพชร ไว้จากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยคุ้มครองถึงชีวิตร่างกายของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของนายวันเชิดหรือเชิดสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้อฮีโน่หมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ และเป็นนายจ้างหรือผู้สั่งให้ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อประโยชน์ของตน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ประกอบการขนส่งในนามและเพื่อประโยชน์ของตน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2528 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ดังกล่าวมาตามถนนพหลโยธินจากจังหวัดกำแพงเพชรมุ่งหน้าไปจังหวัดตาก ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถบังคับให้รถที่ขับอยู่ในช่องเดินรถของตนเองได้ และขับล้ำกึ่งกลางทางเดินรถไปทางขวามือซึ่งเป็นช่องเดินรถที่สวนมาและชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนม-0144 กำแพงเพชรของโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับสวนทางมาทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหายและนายวันเชิดหรือเชิด สินทรัพย์ผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายของรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนสำหรับชีวิตร่างกายของผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวเป็นเงิน 30,000 บาทรวมเป็นเงิน 90,000 บาท ขณะเกิดเหตุรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 มีราคา 140,000 บาท ถูกชนเสียหายใช้การไม่ได้ทั้งคัน ได้รับการชดใช้จากผู้รับประกันภัยแล้ว 60,000 บาท และได้รับเงินจากการขายซากรถที่เสียหาย 20,000 บาท ยังขาดค่าเสียหายเป็นเงิน 60,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ใช้รถยนต์คันดังกล่าว เป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 เป็นบุตรของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ที่เสียชีวิต โดยขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 อายุ 16 ปี และโจทก์ที่ 4อายุ 13 ปีโจทก์ทั้งสองจึงขอคิดค่าอุปการะเลี้ยงดูคนละ 1,000 บาทต่อเดือนจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ เป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 48,000 บาท และโจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 84,000 บาทโจทก์ที่ 3 ที่ 4 ได้ใช้เงินไปในการเคลื่อนย้ายศพและจัดพิธีสวดและปฏิบัติตามประเพณีสิ้นเงินไป 40,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย172,000 บาท ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 รวมทั้งหมดเป็นเงิน 332,000 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 356,900 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 356,900 บาท และดอกเบี้ยจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เอง ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องมาไม่ถูกต้องและสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ขับรถด้วยความเร็วสูงและขับล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้ามาชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันจึงมีสิทธิฟ้องโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยแล้ว โจทก์ทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินค่าซ่อมจำนวน 74,000 บาท ค่ารถยกอีก 4,000 บาท รวมเป็นเงิน78,000 บาท จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสี่ ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 78,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสี่ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของจำเลยที่ 3 ขาดอายุความแล้ว โดยไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น แต่ในกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังค่าเสียหายของรถยนต์จำเลยที่ 1 ไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 90,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 50,000บาท และโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 จำนวน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับทิศทางของรถถือว่าเป็นการแก้ไขข้อสำคัญของคำฟ้อง ก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบในการต่อสู้ คดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และโจทก์สามารถแก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน แต่โจทก์กลับมาขอแก้ไขในวันสืบพยานซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4580/2528 และคำพิพากษาฎีกาที่ 4795/2528 ศาลไม่ควรอนุญาตให้แก้ไขและมีผลให้การนำสืบของโจทก์เป็นการนำสืบนอกคำฟ้อง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่า ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขับรถสวนทางกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ม-0144 กำแพงเพชร ของโจทก์ที่ 2 โดยขับล้ำกึ่งกลางทางเดินรถเข้าไปทางขวามือซึ่งเป็นช่องเดินรถของรถยนต์โจทก์ที่ 2 ที่แล่นสวนทางมา และรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหายซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าวให้การว่า เหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ที่ขับด้วยความเร็วสูงและขับล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้ามาชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เองตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยที่ 3 จึงฟังข้อเท็จจริงได้ต้องกันว่ารถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันดังกล่าวแล่นสวนทางกัน และเกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น ดังนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับทิศทางวิ่งของรถยนต์ที่เกิดเหตุจากข้อความที่ว่า “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314 เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดตากมุ่งหน้ามาจังหวัดกำแพงเพชร” เป็น “รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-4314เชียงใหม่ ขับจากจังหวัดกำแพงเพชร มุ่งหน้ามาจังหวัดตาก” จึงเป็นการแก้ไขข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดผลตามกฎหมายที่แตกต่างกันเพราะจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับอยู่แล้วว่ารถยนต์เกิดเหตุทั้งสองคันแล่นสวนทางกันแล้วเกิดชนกัน เพียงแต่จำเลยที่ 3ต่อสู้ว่าเหตุที่ชนกันเป็นเพราะรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 แล่นล้ำกึ่งกลางทางเดินรถเข้าไปชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องในคำฟ้องเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่ประการใดไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง แม้การขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวจะกระทำในวันสืบพยาน โจทก์ย่อมมีสิทธิกระทำได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวชอบแล้ว การนำสืบของโจทก์จึงไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share