คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6376/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดสองกรรม ลงโทษจำคุกฐานบุกรุก 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกาย 3 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานบุกรุกที่เป็นบทหนักที่สุด จำคุก 8 เดือน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานโดยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้เจตนาเข้าไปเพื่อทำร้ายผู้เสียหายแต่มีเจตนาเข้าไปเพื่อต่อว่าผู้เสียหาย เจตนาทำร้ายเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน ฎีกาโจทก์เช่นนี้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยมีเจตนาอะไรเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเคหสถานของผู้เสียหาย และทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365,295, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) และมาตรา 295 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานบุกรุกจำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 11 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 365(3) ประกอบด้วยมาตรา 364เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามมาตรา 90 ลงโทษตามมาตรา 365(3)ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 1 ปี ข้อนำสืบของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษสองกรรมตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดสองกรรม ลงโทษจำคุกฐานบุกรุก 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกาย 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานบุกรุกที่เป็นบทหนักที่สุด จำคุก 8 เดือน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานโดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหาย โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้เจตนาเข้าไปเพื่อทำร้ายผู้เสียหาย แต่มีเจตนาเข้าไปเพื่อต่อว่าผู้เสียหาย เจตนาทำร้ายเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน ฎีกาของโจทก์เช่นนี้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นเบื้องต้นว่าจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยมีเจตนาอะไร เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายที่ได้กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share