แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 824พ.ร.บ. การขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 41(2), 48, 52(13),
58, 60
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ค้าขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีอาชีพรับขนของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษ มีอาชีพรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ โจทก์ว่า จ้างให้จำเลยที่ ๑ ขนส่งสินค้าของโจทก์เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเด็กและผู้หญิง จำนวน ๗๒๓ หีบห่อ ซึ่งบรรจุอยู่ในตู้สินค้า รวม ๖ ตู้จากท่าเรือกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งที่เมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย แต่จำเลยที่ ๑ ไม่มีเรือจึงร่วมขนส่งกับจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ ๑จึงต้องรับผิดส่วนตัวลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔ ด้วยจำเลยทั้งสองตกลงรับขนสินค้าจากกรุงเทพมหานครไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยเรือศรีมณีและเรือศรีสมุทรแล้วขนถ่ายตู้สินค้าจำนวน ๖ ตู้ ลงเรือ เอ็นแอล เดลฟ์ท ขนส่งต่อให้ถึงเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ภายในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗เพื่อให้ทันงานเทศกาลรอมดอน แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญารับขนสินค้าทางทะเล จำเลยทั้งสองกลับขนถ่ายสินค้าพิพาทลงเรือลำอื่นซึ่งมีกำหนดเดินทางภายหลังจากที่เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ได้เดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์แล้ว ทำให้สินค้าถึงประเทศซาอุดิอาระเบียล่าช้ากว่ากำหนด จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งเหตุในการขนส่งสินค้าชักช้าให้โจทก์และผู้ซื้อทราบล่วงหน้าแต่ประการใด และโจทก์มิได้ตกลงยินยอมให้เปลี่ยนเรือจากเรือ เอ็นแอล เดลฟ์ท เป็นเรือลำอื่น จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้ผิดสัญญารับขนสินค้าทางทะเล และเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ทำให้ผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะขาดโอกาสและผลประโยชน์จากการนำสินค้าพิพาทออกจำหน่ายให้ทันงานเทศกาลรอมดอน และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเช่าโกดังสำหรับเก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่ายในปีถัดไป ผู้ซื้อได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉย จึงเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน ๖๒,๙๒๔.๒๓ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยทั้งสิ้นจำนวน ๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่า เป็นค่าเสียหายอันสมควรจึงได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ซื้อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ จำนวน๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันชำระเงินไปคือวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จนถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ยจำนวน ๓๒,๒๙๘.๒๓ บาทรวมเป็นหนี้ถึงวันฟ้อง ๑,๖๐๔,๑๔๕.๕๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๖๐๔,๑๔๕.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าของโจทก์ตามฟ้อง แต่ประกอบกิจการรับจ้างเป็นตัวแทนเรือให้กับจำเลยที่ ๒ การที่โจทก์อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องตัวการตัวแทนมาใช้กับคดีนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่ไม่ต้องการให้ตัวแทนเรือร่วมรับผิดโจทก์ว่า จ้างให้จำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียโดยแบ่งการขนส่งเป็นสองทอดกล่าวคือ ทอดแรกเป็นการขนส่งจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ส่วนทอดที่สองนั้นเป็นการขนส่งจากประเทศสิงคโปร์ไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งในการขนส่งสินค้าดังกล่าวโจทก์ไม่ได้กำหนดเวลาที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งไว้เป็นการแน่นอนหรือโดยเฉพาะเจาะจง การที่จำเลยที่ ๒ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดเวลาอันควรตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ กรณีจึงไม่มีการส่งมอบชักช้าเกิดขึ้นแต่อย่างใดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔มาตรา ๔๑ (๒) นอกจากนี้โจทก์ไม่เคยแจ้งเลยว่า การท่าเรือแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียจะปิดทำการระหว่งวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๗และเมื่อเรือไรน์ มารูไปถึงประเทศซาอุดิอาระเบียก่อนวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๗ ฝ่ายผู้รับตราส่งมิได้รีบดำเนินการขอรับสินค้าจากท่าเรือ กลับปล่อยจนท่าเรือปิดทำการกรณีจึงเป็นความผิดของผู้รับตราส่งแต่ฝ่ายเดียวและผู้รับตราส่งมิได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแก่จำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับการส่งมอบสินค้ารายพิพาทล่าช้าภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการส่งมอบล่าช้าจึงย่อมสิ้นไป ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๘ นอกจากนี้เมื่อเรือสินค้าเดินทางไปถึงประเทศสิงคโปร์แล้ว ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้เพราะมีเรือขนส่งสินค้าอยู่ที่ท่าเรือสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนการที่ไม่สามารถขนถ่ายสินค้าพิพาทลงบรรทุกในเรือเอ็นแอล เดลฟ์ทได้ทัน จึงเป็นกรณีที่มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๒ (๑๓) การที่โจทก์ยินยอมชดใช้เงินให้แก่ผู้รับตราส่งเป็นเงินร้อยละ ๒๐ ของราคาสินค้าทั้งหมดนั้นเป็นการสมยอมกันโดยทุจริต และเป็นความสมัครใจของโจทก์ อีกทั้งผู้รับตราส่งก็มิได้รับความเสียหายเพราะสินค้าพิพาทเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปมิใช่ของสดเสียได้ สินค้าพิพาทสามารถนำออกจำหน่ายได้ แม้จะล่วงเลยเทศกาลรอมดอนแล้วก็ตาม ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างเป็นเพียงผลกำไรที่ผู้รับตราส่งคาดว่าจะได้รับเท่านั้น เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยทั้งสองไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้ามาก่อนจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ วรรค ๓ บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของที่ส่งมอบล่าช้า แต่ต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล ดังนั้นหากจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วต้องไม่เกินจำนวนเงิน ๔๒๕,๒๘๗.๕๐ บาท ซึ่งเป็นค่าระวางขนส่งทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๔๒๕,๒๘๗.๕๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่ให้เกินจำนวน ๓๒,๒๙๘.๒๓ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยที่ ๒จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษจำเลยทั้งสองมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โดยจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลในประเทศไทยโจทก์ว่า จ้างจำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าพิพาทเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเด็กและผู้หญิง ๗๒๓ หีบ ที่บรรจุอยู่ในตู้สินค้ารวม ๖ ตู้จากท่าเรือกรุงเทพไปให้แก่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำเลยที่ ๒ ใช้เรือศรีมณี และเรือศรีสมุทรขนส่งตู้สินค้า ๖ ตู้ จากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ โดยเรือทั้งสองลำออกจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ ๓ และ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ตามลำดับ เมื่อเดินทางถึงท่าเรือสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์แล้วได้ขนถ่ายตู้สินค้า ๖ ตู้ จากเรือศรีมณีและเรือศรีสมุทรไปขึ้นเรือไรน์ มารู และเรือบังกา ซูเรีย บรรทุกเดินทางไปถึงท่าเรือเจดดาห์ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ ๓ และ ๘ มีนาคม ๒๕๓๗ ตามลำดับ และเมื่อวันที่ ๘ และ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๗ ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที จึงได้รับสินค้าพิพาททั้ง ๖ ตู้สินค้าดังกล่าว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ขนส่งสินค้าพิพาทไปส่งถึงท่าเรือเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียชักช้ากว่าที่ตกลงกันไว้และทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า ในการที่จำเลยที่ ๒ รับขนส่งสินค้าพิพาทให้โจทก์มิได้มีการตกลงกันว่า ต้องขนส่งให้ถึงท่าเรือเจดดาห์ในวันที่ ๒๐กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ แต่อย่างใด ตามเอกสารหมาย จ.๔ ที่จำเลยที่ ๒ ส่งไปให้โจทก์เป็นแต่การประมาณวันที่เรือบรรทุกสินค้าพิพาทจะเดินทางไปถึงท่าเรือเจดดาห์เท่านั้นทั้งตารางกำหนดการเดินเรือจำเลยที่ ๒ ก็มิได้เป็นผู้จัดทำขึ้น แต่เจ้าของเรือเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง ตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.๔ ถึง ล.๑๐ ก็ไม่ได้ระบุให้จำเลยที่ ๒ต้องขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ภายในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ และจำเลยที่ ๒มีสิทธิที่จะเปลี่ยนเรือขนส่งที่ระบุไว้ในใบตราส่งเป็นเรือลำอื่นก็ได้ โดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า จากคำเบิกความของนางสาวอรภัทรา นพวันนัทกุล พยานจำเลยทั้งสองและคำเบิกความของนางสาวนุสรา โชติภาภรณ์ พยานโจทก์รับฟังต้องกันว่า ก่อนที่โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าพิพาทไปให้ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้งอีเอสที ลูกค้าของโจทก์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น ได้มีการเจรจาตกลงกันก่อน โดยจำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายส่งเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งเป็นวันกำหนดการเดินเรือที่เรือแต่ละลำจะเดินทางไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ไปให้โจทก์พิจารณา แม้ในรายการวันกำหนดการเดินเรือดังกล่าวจะมีอักษรย่อ อีทีดี ที่หมายความว่า เรือออกประมาณและคำว่า อีทีเอ ที่หมายความว่า ประมาณเรือเข้า ทั้งใบตราส่ง ๖ ฉบับที่ได้ออกให้แก่โจทก์ไม่ได้ระบุวันที่จำเลยที่ ๒ จะต้องขนสินค้าไปให้ถึงท่าเรือเจดดาห์ไว้ด้วย ดังเช่นที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ก็ตามแต่การที่ฝ่ายจำเลยได้ส่งกำหนดการเดินเรือแต่ละลำที่จะเดินทางไปถึงท่าเรือเจดดาห์ในวันใดมาให้โจทก์เพื่อคัดเลือกที่จะตัดสินใจให้ใช้เรือลำใดบรรทุกสินค้าพิพาท โดยโจทก์ตกลงเลือกเรือศรีมณีและเรือศรีสมุทรที่จะออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพในวันที่ ๓ และ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ เพื่อบรรทุกสินค้าของโจทก์เดินทางไปยังท่าเรือสิงคโปร์ แล้วเลือกเรือเอ็นแอล เดลฟ์ทบรรทุกสินค้าพิพาท จากท่าเรือสิงคโปร์ไปยังท่าเรือเจดดาห์ การที่กำหนดการเดินเรือเอกสารหมาย จ.๔ ระบุไว้ว่า เรือเอ็นแอล เดลฟ์ทออกจากท่าเรือสิงคโปร์วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์๒๕๓๗ ถึงท่าเรือเจดดาห์ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ซึ่งนางสาวอรภัทรา พยานจำเลยทั้งสองก็เบิกความรับว่า เมื่อโจทก์ตกลงจองระวางเรือกับจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑เห็นว่า เที่ยวเดินเรือตามที่จองนั้นสามารถรับจองระวางเรือได้จึงได้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย ล.๔ ถึง ล.๑๐ ให้ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ ๒ รับขนสินค้าพิพาทนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันที่จะให้ขนสินค้าพิพาทไปถึงท่าเรือเจดดาห์ภายในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ โดยประมาณ แม้จำเลยที่ ๒ จะอ้างว่า กำหนดวันเดินเรือดังกล่าวไม่ใช่เป็นวันที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กำหนด แต่เจ้าของเรือเป็นผู้กำหนดไว้ก็ไม่อาจที่จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ เพราะเมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับขนแล้วก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จะต้องเป็นผู้ไปจองระวางเรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ให้ได้ตามที่ตกลงกับโจทก์ มิใช่ว่า เมื่อโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ขนสินค้าพิพาทแล้ว แต่โจทก์กลับจะเป็นผู้เสี่ยงต่อความไม่แน่นอนในการที่จำเลยที่ ๒ จะจองระวางเรือที่จะขนส่งสินค้าพิพาทได้หรือไม่นั้น จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ ข้อที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่า เหตุที่ไม่อาจใช้เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ขนสินค้าของโจทก์จากท่าเรือสิงคโปร์ไปยังท่าเรือเจดดาห์ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ก็เนื่องจากเป็นเทศกาลตรุษจีน ที่ท่าเรือสิงคโปร์ มีเรือเข้าออกแออัดและระวางเรือเอ็นแอลเดลฟ์ทเต็มแล้วนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่อาจที่จะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้อีกเช่นกันส่วนที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่า จำเลยที่ ๒ มีสิทธิที่จะเปลี่ยนเรือขนส่งที่ระบุไว้ในใบตราส่งเป็นเรือลำอื่นได้ โดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบนั้นก็มิได้หมายความว่า จำเลยที่ ๒ จะกระทำได้โดยไม่คำนึงถึงข้อตกลงกันไว้แม้จะมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเรือขนส่งสินค้า แต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ที่ต้องขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ให้ได้ภายในกำหนดที่เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท จะเดินทางไปถึงท่าเรือเจดดาห์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันไว้แต่เดิม ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนเรือ โดยขนถ่ายสินค้าของโจทก์ขึ้นเรือไรน์ มารู และเรือบังกา ซูเรียเดินทางออกจากท่าเรือสิงคโปร์ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ในวันที่ ๓ และ ๘ มีนาคม ๒๕๓๗ตามลำดับนั้นจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือปลายทางชักช้ากว่ากำหนดและจำเลยที่ ๒จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่าใบตราส่งที่จำเลยที่ ๒ ออกให้แก่โจทก์ไว้นั้น มีเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดไว้ตามข้อ ๗ (๔) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผู้ขนส่งไม่รับรองหรือสัญญาว่า สินค้าจะไปถึงท่าขนถ่ายหรือสถานส่งมอบ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งหรือทันต่อความต้องการของตลาดสินค้าหรือการใช้งานและไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือความเสียหายอันเป็นผลสืบเนื่องไม่ว่า โดยตรงหรือโดยอ้อมจากการล่าช้าดังกล่าว” จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เงื่อนไขความรับผิดของผู้ขนส่งที่จำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างดังกล่าว เป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ ๒ออกแต่ฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ลงลายมือชื่อยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ อีกว่า โจทก์สิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ ๒ ขนส่งชักช้าแล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ ๒อุทธรณ์ว่า ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าหลังจากจำเลยที่ ๒ ขนส่งถึงท่าปลายทางไปเรียบร้อยแล้วโดยมิได้อิดเอื้อนหรือคัดค้านโต้แย้งว่า มีการขนส่งชักช้า หนังสือของผู้รับตราส่งตามเอกสารหมาย จ.๓๓ ที่ส่งมาให้แก่จำเลยที่ ๒ นั้น ก็ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๗ แต่ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไปจากท่าเรือเจดดาห์ประมาณวันที่ ๓ ถึง ๗ มีนาคม ๒๕๓๗ซึ่งเมื่อพิจารณาวันที่ตามเอกสารหมาย จ.๓๓ ที่โจทก์ได้รับก็พ้นกำหนด ๖๐ วัน แล้วความรับผิดของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับการขนส่งชักช้าก็สิ้นไปตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๘ ทั้งตามเอกสารหมาย จ.๓๑, จ.๓๒ และจ.๑๗ ก็เป็นเพียงการโต้ตอบกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ ก่อนที่จำเลยที่ ๒จะขนส่งสินค้าของโจทก์ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบียเท่านั้นอย่างไรก็ตาม สิทธิทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งได้ตกไปเป็นของผู้รับตราส่งแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการขนส่งชักช้าเว้นแต่ผู้รับตราส่งจะมอบอำนาจให้เรียกร้องแทน เอกสารดังกล่าวมาก็มิใช่เป็นการมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๘ ที่บัญญัติว่า”สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเป็นผลจากการส่งมอบชักช้าย่อมสิ้นไปถ้าผู้รับตราส่งมิได้ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบของ” นั้นเป็นการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความรับผิดของผู้ขนส่งในการใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของไปถึงท่าปลายทางชักช้ากว่ากำหนด โดยผู้ขนส่งยังต้องรับผิดอยู่เมื่อผู้รับตราส่งมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบว่า ขนส่งของล่าช้าภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันที่ผู้รับตราส่งได้รับมอบของแล้ว ดังนั้น หากผู้รับตราส่งได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ขนส่งทราบก่อนที่ผู้รับตราส่งจะได้รับมอบของว่า มีการขนส่งชักช้าแล้ว ผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งชักช้าแล้วโดยไม่จำต้องบอกกล่าวอีกภายใน ๖๐ วัน นับแต่ผู้รับตราส่งได้รับมอบของแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการขนส่งชักช้าแล้วก็ย่อมมีความเสียหายเกิดขึ้น ส่วนที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า เอกสารหมายจ.๓๓ ของร้านอัลมาสนี เทรดดิ้งอีเอสที ผู้รับตราส่งจะเป็นการบอกกล่าวถึงความชักช้าของการส่งสินค้าพิพาทพ้น ๖๐ วันนับแต่ได้รับมอบไปแล้วตามที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที มีหนังสือลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๗ แจ้งให้โจทก์ทราบว่า มีการขนส่งสินค้าที่สั่งจากโจทก์ไปให้ชักช้าและขอให้ช่วยเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งตามเอกสารหมาย จ.๓๑ ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๗ แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ทราบถึงเรื่องที่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสทีได้แจ้งถึงความล่าช้าในการส่งสินค้า ตามเอกสารหมาย จ.๓๒ โดยจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๗ ถึงโจทก์รับว่ามีการขนส่งชักช้าตามเอกสารหมายจ.๑๗ ย่อมเห็นได้ว่า ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งได้ทราบว่า มีการขนส่งสินค้าชักช้าแล้วโดยผ่านทางโจทก์ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที จะได้รับมอบสินค้าไปจากท่าเรือเจดดาห์ เสียอีกเพราะตามเอกสารหมาย ล.๑๘ ปรากฏว่า ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไปจากท่าเรือเจดดาห์ เมื่อวันที่ ๘ และ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๗ ดังนั้น แม้หลังจากร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที รับมอบสินค้าไปแล้วไม่บอกกล่าวการขนส่งชักช้าไปยังจำเลยที่ ๒ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่ได้รับมอบสินค้าก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ต้องพ้นจากความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการขนส่งชักช้า ที่ร้านอัลมาสนีเทรดดิ้ง อีเอสที ได้บอกกล่าวไปแล้วตามวินิจฉัยมาแต่ต้น
ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ในการรับขนสินค้าตามฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ ๒ เป็นคู่สัญญารับขนสินค้ากัน เมื่อจำเลยที่ ๒ขนส่งสินค้าไปถึงท่าปลายทางชักช้ากว่ากำหนดที่ตกลงกันไว้จนทำให้ร้านอัลมาสนีเทรดดิ้ง อีเอสที คู่สัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ต้องเสียหายมาเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ก็ต้องถือว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ผิดสัญญารับขนทางทะเล โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๒ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับมอบอำนาจจากร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ให้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ก่อนดังที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๒ ต่างอุทธรณ์ขึ้นมาด้วยกันว่า มีจำนวนเพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองจงใจขนสินค้าของโจทก์ไปกับเรือลำอื่นไม่ใช่เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ตามที่ตกลงกันไว้และยังออกเดินทางภายหลังเรือเอ็นแอล เดลฟ์ท อีกด้วย จึงถือว่าเป็นการกระทำและงดเว้นกระทำโดยเจตนาที่จะขนส่งสินค้าของโจทก์ให้ชักช้าละเลยไม่เอาใจใส่ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า การชักชัาในการขนส่งจะเกิดขึ้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำบทบัญญัติมาตรา ๕๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาใช้บังคับทั้ง ๆ ที่มาตรา ๖๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติห้ามนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๕๘ มาใช้บังคับแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ไม่เกินค่าระวางทั้งหมดคือ ๔๒๕,๒๘๗.๕๐ บาทจึงไม่ชอบ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดค่าเสียหายต่อโจทก์เต็มตามฟ้อง และที่จำเลยที่ ๒อุทธรณ์ว่า เกี่ยวกับเรื่องเสียหายนี้โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่สามารถสืบพยานยืนยันให้เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์หรือผู้รับตราส่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการส่งสินค้าชักช้า สินค้าของโจทก์เป็นเสื้อผ้าไม่เสียหายแม้เก็บไว้นาน ๆ ที่โจทก์ชำระเงินให้ผู้รับตราส่ง เพื่อเป็นการรักษาเครดิตหรือลูกค้าของโจทก์เท่านั้น ซึ่งโจทก์เองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้รับตราส่งได้รับความเสียหายจริง เป็นแต่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นลูกค้าโจทก์คาดการณ์ว่า จะไม่ได้กำไรจากการขายสินค้าพิพาทเท่านั้น ซึ่งการขายสินค้าจะได้กำไรมากน้อยเพียงใดก็ยังไม่ทราบเพราะห่างไกลเกินไป โจทก์และผู้รับตราส่งจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้จำเลยที่ ๒ รับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ ๔๒๕,๒๘๗.๕๐ บาท จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าเนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ว่า จ้างจำเลยที่ ๒ ขนส่งสินค้าพิพาท จากท่าเรือกรุงเทพไปท่าเรือเจดดาห์ โดยใช้เรือศรีมณีและเรือศรีสมุทรบรรทุกตู้สินค้าบรรจุสินค้าพิพาทจากท่าเรือกรุงเทพแล้วไปขนถ่ายขึ้นเรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ที่ท่าเรือสิงคโปร์ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ภายในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ ตามวินิจฉัยมาแล้วแต่ต้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับจ้างขนส่งสินค้าพิพาท แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่มีเรือที่เป็นพาหนะขนส่งเป็นของจำเลยที่ ๒ เอง ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ที่ต้องจองระวางเรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ให้ได้ตามที่ตกลงกันเพื่อจะได้ขนส่งสินค้าพิพาท ไปถึงท่าเรือเจดดาห์ตามกำหนด การที่เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ไม่สามารถรับขนส่งสินค้าของโจทก์ที่ท่าเรือสิงคโปร์ โดยที่จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า เพราะเหตุไม่มีระวางเรือว่างที่จะรับสินค้าของโจทก์ได้นั้น กลับทำให้เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มิได้จองระวางเรือของเรือเอ็นแอล เดลฟ์ท ไว้ตามที่ตกลงรับจ้างกับโจทก์เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท จึงได้บรรทุกสินค้าของบุคคลอื่นจนเต็มระวางเรือไม่มีที่วางแล้ว หากมีการจองระวางเรือได้เรียบร้อยแล้วก็คงจะไม่เกิดเหตุขึ้น การที่จำเลยที่ ๒ เปลี่ยนเรือลำอื่นบรรทุกสินค้าของโจทก์คือเป็นเรือไรน์ มารูและบังกา ซูเรีย ที่มีกำหนดตารางเดินเรือไว้แล้วและไปถึงท่าเรือเจดดาห์ชักช้ากว่ากำหนดที่เรือเอ็นแอล เดลฟ์ท จะไปถึงตามที่ตกลงกันไว้ถือเป็นความผิดของจำเลยที่ ๒ โดยตรงอันถือได้ว่า การส่งมอบสินค้าชักช้าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของจำเลยที่ ๒ โดยเจตนา จำเลยที่ ๒จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น มิใช่ว่าโจทก์นำสืบถึงเหตุแห่งความชักช้าในการส่งมอบสินค้าไม่ได้แล้วให้จำเลยที่ ๒ รับผิดเพียงไม่เกินสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนทางทะเลตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔มาตรา ๕๘ วรรคสาม
ส่วนปัญหาว่าโจทก์เสียหายเพียงใดนั้น เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นผลที่เกิดจากความเสียหายของร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ลูกค้าของโจทก์ที่ไม่ได้รับสินค้าพิพาทที่สั่งซื้อจากโจทก์ตามกำหนดเวลา ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้งอีเอสที ประกอบธรุกิจการค้า ซึ่งการเป็นพ่อค้าย่อมหวังผลกำไรในการค้าเป็นปกติธรรมดา การที่จำเลยที่ ๒ ขนสินค้าไปให้ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ชักช้าไม่ตรงเวลาที่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที จะนำออกขายในเทศกาลรอมดอนได้ทัน โดยโจทก์มีนายอามิน เอ็ม.เอ.อัล กูลิท ผู้จัดการใหญ่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสทีมาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ก่อนที่สินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์จะไปถึงประเทศซาอุดิอาระเบียนั้นได้มีการจำหน่ายสินค้าล่วงหน้าไปแล้วถึงร้อยละ ๗๕ อันแสดงว่าร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ได้ตกลงขายสินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์ล่วงหน้าไปเกือบหมดแล้วซึ่งหากจำเลยที่ ๒ ไม่ขนส่งไปถึงท่าเรือเจดดาห์ ชักช้าแล้ว ก็ไม่เป็นภาระแก่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ที่จะเก็บรักษาสินค้าพิพาทไว้นาน และมีผลกำไรจากการขายสินค้าพิพาทล่วงหน้าทันที แต่เมื่อจำเลยที่ ๒ ขนส่งชักช้าจนเป็นเหตุทำให้ผู้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ไม่อาจขายสินค้าพิพาทได้ก็เป็นภาระที่จะเก็บสินค้าพิพาทไว้ต่อไปแม้สินค้าพิพาทเป็นพวกเสื้อผ้าที่ไม่เสียหายอาจเก็บไว้ได้นานเช่นจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นสินค้าตกรุ่นตกสมัยนิยม นายอามิน เอ็ม.เอ.อัล กูลิท เบิกความว่าปัจจุบันยังมีสินค้าพิพาทเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๓๐ ถึง ๔๐ แต่จะขายได้ราคาเพียงร้อยละ ๔๐ ของราคาต้นทุนเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องรับผิดในการที่ร้านอัลมาสนี เทรดดิ้ง อีเอสที ต้องเสียหายที่ควรจะได้กำไรจากการขายสินค้าพิพาทร้อยละ ๒๐ จากราคาสินค้าพิพาททั้งหมดรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเช่าโกดังเก็บสินค้าพิพาทตามที่นายอามิน เอ็ม.เอ.อัล กูลิท เบิกความนั้น แม้จะเป็นเพียงการคาดการณ์ผลกำไรที่พึงจะได้รับก็ตาม แต่ก็เป็นจำนวนพอสมควรสมเหตุสมผลที่จะพึงได้รับจากการค้าขายมิใช่ห่างไกลเกินไปดังเช่นที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์แต่อย่างใดศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน ๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗ บาท จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว และเมื่อวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗ บาท ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ขอให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน ๔๒๕,๒๘๗.๕๐ บาท ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอีกต่อไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศอังกฤษจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๔ บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของตัวแทนที่ทำการแทนตัวการอยู่ต่างประเทศต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า”ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมแสดงว่า หากไม่มีข้อความเกี่ยวกับความรับผิดของตัวแทนไว้ในสัญญาที่ตัวแทนทำกับบุคคลภายนอกคู่สัญญาแทนตัวการที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไว้แล้วตัวแทนก็ต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาต่อบุคคลภายนอกคู่สัญญาเสมือนเป็นตัวการคือ เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับบุคคลภายนอกคู่สัญญานั้นเอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าตัวการที่ตัวแทนได้ทำการแทนนั้นจะเป็นที่รู้กันว่า เป็นใครแล้วหรือไม่มิฉะนั้นแล้ว หากมีปัญหาที่บุคคลภายนอกคู่สัญญาจะบังคับตามสัญญากันแล้วก็อาจจะไร้ผล ความเสียหายย่อมตกอยู่กับบุคคลภายนอกคู่สัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น เมื่อตามทางนำสืบของจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฏว่า การที่จำเลยที่ ๑ ตกลงรับขนสินค้าทางทะเลกับโจทก์แทนจำเลยที่ ๒ มีเงื่อนไขกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ไว้อย่างไรแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาโดยลำพัง แม้โจทก์จะรู้ว่าจำเลยที่ ๑ เข้าทำสัญญากับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๒ เท่านั้นเองและโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ตัวการให้ต้องรับผิดตามสัญญาที่จำเลยที่ ๑ ทำกับโจทก์แล้วก็ตาม จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑,๕๗๑,๘๔๗.๒๗บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ.