คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6369/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 52 วรรคสอง เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่ได้เข้าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก จึงไม่ได้คัดค้านการประนอมหนี้ แต่ได้ยื่นคำคัดค้านการประนอมหนี้ไว้ก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจอุทธรณ์ได้ จำเลยที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยที่ 1ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำบัญชีแสดงกิจการต้นทุนกำไรย้อนหลังไป 3 ปีนับแต่วันถูกพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวที่มิได้ใช้ในการประกอบธุรกิจ ภริยาจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีทรัพย์สิน และในการประกอบกิจการค้าขาย จำเลยที่ 2ไม่ได้ทำบัญชีแสดงการขาดทุนกำไร ย่อมเห็นได้ว่า ก่อนล้มละลายจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สินและไม่สามารถนำบัญชีและงบดุลประจำปีมาแสดงต่อศาลได้สำหรับระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายโดยไม่มีเหตุสมควร ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองได้ขืนทำการค้าต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามมาตรา 74(2)(ข),73,72, และ 53 ศาลย่อมสั่งไม่เห็นชอบด้วยคำขอประนอมหนี้ได้.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด จำเลยทั้งสองยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานขอให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำขอประนอมหนี้ว่า คำขอประนอมหนี้ของจำเลยทั้งสองไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป และทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน กระทำการไม่สุจริต ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยทั้งสอง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำขอประนอมหนี้เสีย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยทั้งสองเนื่องจากผู้คัดค้านไม่ไปประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก เมื่อที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้วย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทุกราย เห็นว่าพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติว่าเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตามคดีนี้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วแต่ไม่ได้เข้าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก จึงไม่ได้คัดค้านการประนอมหนี้แต่ได้ยื่นคำคัดค้านการประนอมหนี้ไว้ก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจอุทธรณ์ได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว…
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องไฟฟ้าและสั่งสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าจากต่างประเทศใช้ทุนเป็นจำนวนล้านบาทเพียงแต่จำเลยไม่ได้ส่งบัญชีต่อศาลจะยกเป็นข้อสันนิษฐานว่าจำเลยได้กระทำการค้าขายโดยรู้ว่ามิสามารถชำระหนี้ไม่ได้ กับฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยสามารถชำระหนี้ได้ กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 72, 73, 74 นั้น เห็นควรวินิจฉัยรวมกันไป ได้ความจากจำเลยที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามสำนวนกลางของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่เป็นของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำบัญชีแสดงกิจการต้นทุนกำไรย้อนหลังไป 3 ปีนับแต่วันถูกพิทักษ์ทรัพย์ และจำเลยที่ 2 ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ปัจจุบันจำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวที่มิได้ใช้ในการประกอบธุรกิจ ภริยาจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีทรัพย์สินจำเลยที่ 2 อาศัยอยู่กับนายอนุสรณ์ อัศวไชยวงศ์ เจ้าหนี้รายที่ 10 โดยไม่เสียค่าเช่าและในการประกอบกิจการค้าขาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำบัญชีแสดงการขาดทุนกำไรแต่อย่างใด ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าก่อนล้มละลายจำเลยทั้งสองมีสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สินและไม่สามารถนำบัญชีและงบดุลประจำปีมาแสดงต่อศาลได้สำหรับระยะเวลา3 ปี ก่อนล้มละลายโดยไม่มีเหตุสมควร อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยทั้งสองได้ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 74(2) (ข) เมื่อฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีก โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ให้ศาลสั่งตามมาตรา 72 ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 73(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่เห็นชอบด้วยคำขอประนอมหนี้ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share