แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ประกันยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2533 ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532ใช้บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ประกันต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นฎีกา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ประกันยื่นฎีกา บัญญัติให้ผู้ประกันมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด กรณีของผู้ประกันเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยแล้วย่อมเป็นที่สุดศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกัน ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุจะลดค่าปรับ
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าผู้ประกันยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2533 ภายหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532ใช้บังคับแล้ว สิทธิในการฎีกาของผู้ประกันต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นฎีกา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ประกันยื่นฎีกาบัญญัติไว้ว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องเมื่อศาลสั่งประการใดแล้วฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ดังนั้น กรณีของผู้ประกันจึงเป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1″
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน