คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นในคดีก่อนพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 แต่อย่างใด
จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึง เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 117,246.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 95,501 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 117,246.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 95,501 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบกิจการรับขนส่งน้ำมัน และเป็นเจ้าของรถยนต์หกล้อ ยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 73-1877 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถ 73-0649 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 โจทก์และจำเลยทั้งสามถูกห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคลลาภขนส่งฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 477/2544 ของศาลจังหวัดหลังสวน ให้ร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวอันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามขับรถยนต์ติดแผ่นป้ายทะเบียน 73-0649 กรุงเทพมหานคร ลากจูงรถพ่วงติดแผ่นป้ายทะเบียน 73-1877 กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์หกล้อของโจทก์จอดอยู่ที่ไหล่ทางและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถในลักษณะกีดขวางทางจราจร ทำให้รถของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวชนกับรถพ่วงได้รับความเสียหาย ศาลจังหวัดหลังสวนและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้โจทก์ร่วมรับผิดชำระค่าเสียหาย โจทก์ฎีกา ระหว่างโจทก์ยื่นฎีกาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดหลังสวนให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคลลาภขนส่ง โจทก์จึงให้ทนายความไปถอนฎีกา หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลอาญาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1740/2552 ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม อ้างว่าจำเลยทั้งสามปลอมและใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 73-1877 กรุงเทพมหานคร ศาลอาญาตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามทำเอกสารปลอมอย่างไรและเอกสารที่นำไปใช้โดยอ้างว่าปลอมนั้นปลอมอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.1597/2552 ของศาลอาญา หลังจากนั้น โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลอาญาข้อหาเดียวกันอีกเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1846/2552 ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลอาญามีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้ววินิจฉัยว่า ที่ศาลอาญาตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1597/2552 ดังกล่าวนั้น เท่ากับศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำของจำเลยทั้งสามตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องคดีก่อนแล้วว่าไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) พิพากษายกฟ้อง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.2640/2552 ของศาลอาญา โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีอาญาถึงที่สุด หลังจากนั้นโจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งสามเฉพาะฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ข้อ 1 ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และข้อ 2 ที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยเกี่ยวกับประเด็นฟ้องโจทก์ขาดอายุความชอบหรือไม่เท่านั้น จำเลยทั้งสามไม่อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสาม ข้อ 3 ที่ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และข้อ 4 ที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยทั้งสาม ปัญหาตามฎีกาข้อ 3 และข้อ 4 ดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยทั้งสามละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 117,246.67 บาท
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม ข้อ 1 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1597/2552 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2640/2552 ของศาลอาญา เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวให้ยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้อง เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เท่ากับว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงและผลคดีอาญาดังกล่าวมาผูกพันข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์มิได้เป็นเจ้าของรถพ่วงคันเกิดเหตุ และวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ต้องถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งทำให้ปรากฏว่ารถพ่วงคันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์อันเป็นการทำละเมิด จำเลยทั้งสามไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และมิใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อ 1 นี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสาม ข้อ 2 ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่อุทธรณ์ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 ตามที่นางวนิดา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน ว่าโจทก์รู้เรื่องและรู้ตัวว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำแผ่นป้ายทะเบียนปลอมไปใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามยกขึ้นอ้างเพื่อประกอบให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าโจทก์น่าจะรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอยู่แล้ว ก่อนที่ศาลจังหวัดหลังสวนจะมีคำพิพากษา ดังนั้น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดหลังสวน พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมงคลลาภขนส่ง จึงถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้รู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเป็นอย่างช้าตามที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาตลอด อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามมิได้ให้การต่อสู้ว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 26 ตุลาคม 2544 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยให้ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามก็มีความหมายชัดแจ้งว่า โจทก์จะต้องรู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ซึ่งขัดแย้งกับที่จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 กรณีไม่อาจนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันที่จำเลยทั้งสามอ้างในอุทธรณ์มารับฟัง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์รู้ถึงเหตุละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 ตามที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อ 2 นี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 3,500 บาท

Share