คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6329/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา236บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่มีอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ก็ดีหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ก็ดีให้คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดฉะนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้ทำในรูปคำสั่งแต่ได้ทำในรูปคำพิพากษาแต่ก็พิพากษายืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ย่อมเป็นที่สุดเช่นกัน

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากบริษัทฮิมพาเลช จำกัด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปล่อยอาคารโรงแรมฮิมพาเลช ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของผู้ร้องนั้น ไม่มีมูลความจริงเนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์กันทางทะเบียนและไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องมีเจตนาเสนอขอไถ่ถอนจำนองต่อโจทก์ หากแต่ยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้าและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินจำนวน 18,606,550.86 บาท เพื่อประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์สำหรับความเสียหายที่โจทก์อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,000,000 บาท ภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2536 มิฉะนั้นถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป
ผู้ร้องขัดทรัพย์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องขัดทรัพย์เนื่องจากเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องขัดทรัพย์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้องขัดทรัพย์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 บัญญัติว่า “ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์” และมาตรา 236 บัญญัติว่า”เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดแล้วส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน” เห็นว่า ตามมาตรา 236 บัญญัติไว้แจ้งชัดว่า ในกรณีที่มีอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์นั้นเมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ก็ดี หรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ก็ดี ให้คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ฉะนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้ทำออกมาในรูปคำสั่งแต่ได้ทำออกมาในรูปคำพิพากษา แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้องขัดทรัพย์ ก็ย่อมเป็นที่สุดเช่นกัน ดังนัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องขัดทรัพย์จะฎีกาอีกหาได้ไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายก ฎีกา ของ ผู้ร้องขัดทรัพย์

Share