คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

“เหตุสุดวิสัย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ มิได้หมายถึงว่า “พฤติการณ์พิเศษที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่อาจกระทำได้ภายในกำหนดนั้นต้องเป็นเหตุสุดวิสัย เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23 จึงไม่จำต้องเป็นเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งไม่มีใครอาจป้องกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หากมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การสั่งขยายเวลาศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่ต้องร้องขอ
ระยะเวลา 14 วันที่กำหนดให้ลูกหนี้ของบุคคลล้มละลายปฏิเสธหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 119 นั้น ศาลอาจสั่งขยายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 และการที่เจ้าหนี้ปฏิเสธหนี้ส่งทางไปรษณีย์ถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช้าไป 1 วันนั้น ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้.

ย่อยาว

คดีนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยได้มีหนังสือทวงหนี้ซึ่งผู้ร้องเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ ผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดและมิได้ชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้ร้องชำระหนี้รายนี้ ผู้ร้องจึงร้องต่อศาลว่าได้ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้รายนี้ไว้แล้ว
ข้อเท็จจริงรับกันว่า ผู้ร้องได้รับหนังสือทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๐๑ ผู้ร้องได้ส่งหนังสือปฏิเสธหนี้มายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๐๑ หนังสือนี้ถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ การส่งจดหมายจากที่อยู่ของผู้ร้องถึงผู้รับในจังหวัดพระนคร อาจถึงผู้รับในระยะ ๑ หรือ ๒ วัน
ศาลชั้นต้นฟังว่า จดหมายของผู้ร้องถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช้าไป ๑ วัน ซึ่งตามปกติ ควรจะถึงภายในกำหนด จึงให้เพิกถอนคำบังคับที่ให้ผู้ร้องชำระเงินนั้นเสีย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๑๑๙ ถือได้ว่าเป็นกำหนดเวลาตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ซึ่งศาลอาจสั่งย่นหรือขยายเองได้และเห็นว่า การที่จดหมายของผู้ร้องถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช้าไปนั้น จะปรับเป็นความผิดของผู้ร้องไม่ถนัด เมื่อความปรากฏแก่ศาลภายหลังเช่นนี้ นับว่ากรณีมีเหตุสุดวิสัย จึงสั่งขยายระยะเวลาให้ และพิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เหตุสุดวิสัย” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้ มิได้หมายถึงว่า “พฤติการณ์พิเศษ” ที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาไม่อาจกระทำได้ภายในกำหนดนั้น ต้องเป็นเหตุสุดวิสัย เหตุสุดวิสัยตามมาตรา ๒๓ จึงไม่จำต้องเป็นเหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งไม่มีใครอาจป้องกันได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘ หากกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือที่ศาลไม่สามารถมีคำสั่งขยายเวลาให้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ย่อมนับได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การสั่งขยายเวลา ศาลมีอำนาจสั่งเองได้ โดยคู่ความไม่ต้องร้องขอ
จึงพิพากษายืน.

Share