คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6321/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหนี้ค่าซ่อมรถยนต์จำนวน233,149บาทเมื่อโจทก์วางบิลเพื่อเก็บเงินตามข้อตกลงแล้วจำเลยไม่ยอมรับการวางบิลและไม่ยอมชำระเงินดังกล่าวจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ของจำเลยที่รับซ่อมไว้ได้จนกกว่าจะได้รับชำระหนี้ ข้อที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาล้วนเป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดีซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้รับวินิจฉัยมาตลอดหาได้ส่อความไม่สุจริตในการดำเนินคดีหรือประวิงการชำระหนี้ไม่จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสามให้ซ่อมรถยนต์ของจำเลยซึ่งมีอยู่จำนวน 111 คัน หลายครั้งต่อเนื่องรวมกัน53 ครั้ง เป็นเงิน ค่าอะไหล่และค่าแรงทั้งสิ้น 233,149 บาทจำเลยได้รับรถยนต์ที่จัดซ่อมเรียบร้อยไปใช้งานบางส่วนแล้วแต่เมื่อครบกำหนดการชำระเงินจำเลยไม่ชำระค่าซ่อมให้แก่โจทก์ทั้งสามตามยอดเงินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันควร โจทก์ทั้งสามจึงยึดหน่วงรถยนต์พิพาทที่จำเลยนำมาซ่อมรวม 4 คัน หมายเลขทะเบียน 8 ร – 0013 กรุงเทพมหานคร, 9 ย – 5420 กรุงเทพมหานคร,85 – 1255 กรุงเทพมหานคร และ 85 – 1257 กรุงเทพมหานคร โดยเก็บรักษาไว้ในอู่ของโจทก์ทั้งสาม เป็นเหตุให้เสียพื้นที่ในการทำงานหรือจัดซ่อมรถยนต์คันอื่นของโจทก์ทั้งสาม ซึ่งหากโจทก์ทั้งสามนำพื้นที่ดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าจอดรถทั้งวันโจทก์ทั้งสามจะได้ค่าเช่าที่จอดรถสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลในอัตราวันละ 100 บาท และรถยนต์บรรทุกในอัตราวันละ 200 บาทโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายในส่วนนี้ 89,100 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 322,249 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างทำของและค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 322,249 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 6,011.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 328,260.75บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน322,249 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้นำรถยนต์พิพาททั้ง 4 คัน ของจำเลยที่โจทก์ทั้งสามยึดหน่วงไว้ออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุม จำเลยกับโจทก์ทั้งสามตกลงกันว่าหลังจากโจทก์ทั้งสามได้ทำการซ่อมรถยนต์แต่ละคันที่รับซ่อมเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสามจะเสนอราคาจัดซ่อม เพื่อตกลงราคาว่าจ้าง แล้วโจทก์ทั้งสามจึงจะมาทำการวางบิลตามระยะเวลาวางบิลตามฟ้องกับจำเลยได้ โจทก์ทั้งสามไม่วางบิลตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับจำเลยกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องกับไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการยึดหน่วงรถยนต์ดังกล่าว จำเลยไม่ผิดนัดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามที่โจทก์ทั้งสามอ้างแต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน233,149 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2534 จนถึงวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 6,011.75บาท และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าซ่อมรถยนต์จำนวน 233,149 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสามวางบิลเพื่อเก็บเงินตามข้อตกลงแล้ว จำเลยไม่ยอมรับการวางบิลและไม่ยอมชำระเงินดังกล่าว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งทั้งค่าซ่อมรถยนต์ทั้ง 4 คันที่โจทก์ทั้งสามยึดหน่วงไว้โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ทั้ง 4 คัน ไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้
อนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสามแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าเพราะจำเลยอุทธรณ์ฎีกาโดยไม่มีสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ส่อความไม่สุจริตและมีลักษณะประวิงการชำระหนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้ตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (6) นั้น เห็นว่าข้อที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาล้วนเป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสารแก่คดี ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้รับวินิจฉัยมาตลอดหาได้ส่อความไม่สุจริตในการดำเนินคดีหรือประวิงการชำระหนี้ไม่จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นดังที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง
พิพากษายืน

Share