คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้สมคบวางแผนกับ ส. จะจับผู้เสียหายเพื่อบังคับให้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คเงินสดให้จำเลยทั้งสองแล้วจะฆ่าผู้เสียหายเสีย ส. ไม่ตกลงจึงแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ ผู้เสียหายไปแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้ววางแผนจับกุมจำเลยทั้งสอง ในวันเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายขับรถออกไปยังไม่พ้นประตูบ้าน จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปที่ประตูรถด้านคนขับ รถหยุด จำเลยที่ 1 พูดกับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนขับรถดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 ก็เข้ามาใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งแอบซุ่มอยู่ได้เข้าทำการจับกุม จำเลยทั้งสองได้ตรงบริเวณประตูหน้าบ้าน ยึดได้อาวุธปืน 1 กระบอก กระสุนปืน 5 นัด กุญแจมือ 1 คู่ แผนที่บ้านผู้เสียหายซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ กระดาษตัวอย่างลายเซ็นชื่อของผู้เสียหาย ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว จึงมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์และฐานพยายามเรียกค่าไถ่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมีอาวุธปืน 1 กระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนประทับพร้อมกระสุนปืน 5 นัด ใช้ยิงได้และมีซองใส่กระสุนปืน 1 ซอง ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไป และเพื่อเอาตัวผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่โดยจะบังคับขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินมอบให้จำเลยทั้งสองเป็นค่าไถ่ตัว และเมื่อได้เงินแล้วจะนำตัวผู้เสียหายไปฆ่าทั้งเป็นการปิดปาก จำเลยทั้งสองได้ลงมือกระทำผิดไปแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด โดยเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้เสียก่อนจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจชิงเอาทรัพย์ และเอาตัวผู้เสียหายไปเรียกค่าไถ่ได้ตามเจตนาของจำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ซองกระสุนปืนและกุญแจมือ 1 คู่ ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีและใช้ในการกระทำผิดดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313, 339, 340 ตรี, 91,93, 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพยายามเรียกค่าไถ่ และพยายามชิงทรัพย์โดยใช้อาวุธปืน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313, 339, 340 ตรี, 80 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 313, 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 12 ปี ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, (ที่ถูกมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง), 72(ที่ถูกมาตรา 72 วรรคแรก) 72 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี เรียงกระทงลงโทษรวมจำคุกคนละ 15 ปี ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง และไม่ปรับบทว่าจำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า พยานหลักฐานโจทก์มั่นคงพอรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองฐานพยายามชิงทรัพย์ และพยายามเรียกค่าไถ่ได้หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายวิโรจน์ นายสุพจน์ เบิกความว่าจำเลยทั้งสองได้วางแผนกับนายสุพจน์จับผู้เสียหายเพื่อบังคับผู้เสียหายให้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเงินสดให้จำเลยทั้งสองรับเงินจำนวน 5,000,000 บาทร้อยตำรวจตรีภาสกรผู้จับกุมจำเลยทั้งสองได้ตรงบริเวณประตูหน้าบ้านของผู้เสียหายตามแผนที่เกิดเหตุ เบิกความว่า รถผู้เสียหายออกยังไม่พ้นประตูบ้าน จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปที่ประตูรถด้านคนขับ รถหยุดกระจกรถด้านคนขับลดลงไปนิดหนึ่ง เห็นผู้เสียหายพูดกับจำเลยที่ 1อยู่คำสองคำ แล้วจำเลยที่ 2 ก็เข้ามาทางด้านซ้ายของจำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย พยานจึงวิทยุบอกสิบตำรวจเอกพิศาลกับจ่าสิบตำรวจสมพรเข้าทำการจับกุม พยานออกจากที่ซ่อนจับจำเลยที่ 2ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 วิ่งย้อนกลับไปทางเดิมก็ถูกสิบตำรวจเอกพิศาลจับกุมตัว จ่าสิบตำรวจสมพรเข้าจับกุมนายสุพจน์ พยานได้ยึดอาวุธปืนพาราเบลบั่ม ยี่ห้อเมาเซอร์ ขนาด 9 มม. ไม่มีทะเบียนพร้อมกระสุนปืน 5 นัดอยู่ในแม็กกาซีนด้ามปืนของจำเลยที่ 2 และยึดได้กุญแจมือ 1 คู่ แผนที่บ้านผู้เสียหาย กระดาษตัวอย่างลายเซ็นชื่อของผู้เสียหายจากตัวนายสุพจน์ แล้วได้คุมตัวจำเลยทั้งสองและนายสุพจน์ไปที่แผนก 5 กองกำกับการกองปราบปรามส่วนนายสุพจน์ได้กันไว้เป็นพยาน ร้อยตำรวจเอกครรชิตซึ่งรับตัวจำเลยทั้งสองไว้สอบสวนเบิกความว่าจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้ทำการแผนที่ทั้งสองแผ่น เพื่อให้จำเลยที่ 2 และนายสุพจน์ดู จำเลยที่ 1ได้ลงชื่อรับรองไว้ใต้แผนที่ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นผู้หาตัวอย่างลายมือชื่อผู้เสียหาย นายสุพจน์พยานโจทก์ได้เบิกความสนับสนุนจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบหักล้างถึงลายมือชื่อของตนที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.1 และนอกจากนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองได้รับสารภาพจึงฟังได้มั่นคงว่าจำเลยทั้งสองได้ลงมือกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313, 339 และ 80 แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าผู้เสียหายมีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นเห็นว่าโจทก์มีพยานอื่นนอกจากตัวผู้เสียหายมาเบิกความถึงข้อเท็จจริงในขณะเกิดเหตุ ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์อื่น ๆ ได้ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นเศรษฐีย่อมมีความรักตัวกลัวตาย ไม่มีเหตุผลที่จะขับรถออกมาอันเป็นการเสี่ยงอันตรายนั้น เห็นว่าขณะเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจซุ่มอยู่ทั้งภายในและภายนอกบ้านในลักษณะเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายและเหตุการณ์ในตอนแรกก็เป็นพยายามจับผู้เสียหายให้เซ็นชื่อไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายจะต้องถูกยิงในทันที่ เหตุผลที่จำเลยอ้างไม่มีน้ำหนัก ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกัน เรื่องอาวุธปืน เรื่องการร้องบอกให้วางอาวุธปืน นั้น เป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share