แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่จัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลเสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดทำคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน สั่ง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 อันเป็นคำสั่งลงโทษโจทก์และลงนามรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เป็นการรับทราบในฐานะที่ตนมีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองที่มิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์จึงยังมิใช่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์จึงได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวและได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยในวันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ที่มีสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนที่ถูกตัดแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เป็นเงินพร้อมดอกเบี้ย และให้พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดกับ ช. และโจทก์ไม่รีบดำเนินการตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและปฏิบัติงานล่าช้า จึงลงโทษตามคำสั่งพิพาท คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีว่า โจทก์กระทำความผิดตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยทั้งสองที่พิพาทชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนและต้องคืนเงินและสิทธิตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 และอำนาจในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเหลือปัญหาที่โต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์เท่านั้น คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยโดยยกเหตุเฉพาะที่จำเลยที่ 2 ยกคำร้องทุกข์ในการอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์เกิน 15 วัน ตามระเบียบ เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แล้วให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน และเพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม.0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน และบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนของโจทก์ที่ถูกตัดจำนวน 7,143 บาท และหากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 7,143 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ตัดเงินเดือนจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 ให้แก่โจทก์และคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากคำสั่งลงโทษ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม.0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เสีย และให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้น โจทก์ได้อุทธรณ์ภายใน 15 วันหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบแห่งสำนักงานธนานุเคราะห์ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 ระบุว่า “พนักงานผู้ใดซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ เมื่อเห็นว่าไม่เป็นธรรมย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ได้ แต่จะต้องยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งโทษ…” คำว่านับแต่วันทราบคำสั่งโทษ ไม่ได้ระบุว่าต้องทราบคำสั่งโทษในฐานะใด ดังนั้น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้ทราบข้อความในต้นฉบับคำสั่ง ที่ 68/2550 ที่ระบุในคำสั่งว่าโจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน แล้ว และโจทก์ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องในคำสั่ง การที่โจทก์อุทธรณ์ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงถือว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 15 วัน นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่จัดทำคำสั่งลงโทษทางวินัยบุคคลเสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดทำคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน สั่ง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 และลงนามรับรองสำเนาถูกต้องนั้น เป็นการรับทราบในฐานะที่ตนมีหน้าที่จัดทำเอกสารดังกล่าวซึ่งถือเป็นเพียงการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครองที่มิได้มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ในขณะนั้น โจทก์จึงยังมิใช่พนักงานผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ กระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 โจทก์จึงได้รับคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าวและได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้นในวันเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ข้อ 69 โดยนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 จึงอยู่ในระยะเวลา 15 วัน ที่มีสิทธิอุทธรณ์ได้ คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน ที่เห็นว่าโจทก์มิได้ยื่นคำร้องทุกข์ภายในกำหนด 15 วัน แล้วยกคำร้องทุกข์นั้นจึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม 0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามระเบียบถูกต้องแล้ว เท่ากับกระบวนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งลงโทษตามคำขอท้ายฟ้องในข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ได้ เพราะการนำเรื่องอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 มาบังคับใช้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งคดีนี้โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิและได้รับความเสียหายตามคำสั่งลงโทษแล้วและมีอยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์คำร้องทุกข์ของโจทก์ไว้พิจารณาก็เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง หากจำเลยที่ 2 พิจารณามีผลโต้แย้งสิทธิโจทก์อีก โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลได้เพราะเป็นฟ้องซ้ำ ทั้งไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพราะแม้ศาลแรงงานกลางออกคำบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่กระบวนการพิจารณาของงานบริหารอยู่ภายใต้กำกับดูแลของจำเลยที่ 2 สถานภาพของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีสิทธิหรือจะขอให้เร่งรัดได้ ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเฉพาะที่ให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ต่อไป และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2543 ไม่มีข้อกำหนดต้องห้ามฟ้องคดีก่อนรับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งไม่มีกฎหมายห้ามในเรื่องนี้ไว้ ศาลแรงงานกลางจึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำขอท้ายฟ้องในข้อ 2 ก่อน โดยมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติงานล่าช้าเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 พิจารณาลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 ถูกต้องเป็นธรรมต่อโจทก์หรือไม่อย่างไรไปได้เลย นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างรัฐวิสาหกิจ ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่อง ลงโทษตัดเงินเดือน และคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ พม.0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตัดเงินเดือน กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเงินเดือนที่ถูกตัดแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้จำเลยทั้งสองชดใช้เป็นเงินจำนวนเท่ากันพร้อมดอกเบี้ย และให้พิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีงบประมาณ 2551 พร้อมคืนสิทธิแก่โจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนายชลอ ผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ 27 เนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ และถูกลงโทษฐานกระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ตัดเงินเดือนร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งของสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 โดยโจทก์ไม่เห็นด้วย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพบว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำความผิดกับนายชลอ และโจทก์ไม่รีบดำเนินการตามคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ตามหนังสือฉบับ ที่ พม.5201.92/305 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 และพม.5201.92/320 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและปฏิบัติงานล่าช้า จึงลงโทษตามคำสั่งพิพาท คดีนี้จึงมีประเด็นแห่งคดีว่า โจทก์กระทำความผิดตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง คำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยทั้งสองที่พิพาทชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนและต้องคืนเงินและสิทธิตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 และอำนาจในการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเหลือปัญหาที่โต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์เท่านั้น ดังนั้น คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยโดยยกเหตุเฉพาะที่จำเลยที่ 2 ยกคำร้องทุกข์ในการอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์เกิน 15 วัน ตามระเบียบ เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ พม.0202/24546 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แล้วให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่ให้จำเลยที่ 2 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาว่าคำสั่งสำนักงานธนานุเคราะห์ ที่ 68/2550 เรื่องลงโทษตัดเงินเดือน ชอบหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องคืนเงินหรือดำเนินการใดตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์หรือไม่ เพียงใดแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง