คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. เป็นผู้เอาประกันภัยสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคาร ก. เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา ส. ถึงแก่ความตาย และไม่ปรากฏว่าธนาคาร ก. แสดงเจตนาขอรับประโยชน์จากสัญญาประกันภัยดังกล่าว ธนาคาร ก. จึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ส. ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ แต่เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ค่าสินไหมทดแทนไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ ส. มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย เพราะได้มาหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของ ส. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นมารดาของ ส. ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของ ส. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 216,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท ตามเงื่อนไขข้อ 6.2 วรรคสี่ ของกรมธรรม์ประกันภัย นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังว่า นายสมชัด เป็นบุตรโจทก์ ทำสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับจำเลย มีระยะเวลาเอาประกันภัยเริ่มจากวันที่ 9 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท โดยระบุให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประโยชน์ นายสมชัดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง รักษา ต่อมานายสมชัดถึงแก่ความตาย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เหตุที่นายสมชัด ผู้ตายทำสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลโดยระบุให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประโยชน์ เนื่องจากขณะทำสัญญานายสมชัดมีภาระหนี้ต้องชำระให้แก่ธนาคาร เมื่อนายสมชัดถึงแก่ความตายภาระหนี้ของนายสมชัดมีการชำระให้แก่ธนาคารครบถ้วนแล้ว เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ระบุให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ย่อมสิ้นสุดลง สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนย่อมโอนมายังโจทก์ผู้เป็นมารดาในฐานะทายาทโดยธรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งผู้ตายเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย โดยเอกสารได้ระบุในใบรับรองประกันภัย “อยุธยาคุ้มครองอุบัติเหตุ” /ใบรับเงิน ตอนต้นว่า กรมธรรม์ประกันภัย “อยุธยาคุ้มครองอุบัติเหตุ” ออกให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถือแทนผู้เอาประกันภัยและตอนกลางของเอกสารยังได้ระบุว่า ผู้รับประโยชน์คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อีกด้วย จากข้อความในเอกสาร แม้จะระบุชื่อผู้รับประโยชน์เป็นชื่อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าธนาคารได้แสดงเจตนาขอรับประโยชน์จากสัญญาประกันภัย ต่อมาเมื่อโจทก์มอบหมายให้ทนายความทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์แก่โจทก์ จำเลยมีหนังสือปฏิเสธความรับผิดโดยมิได้กล่าวอ้างว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้แสดงเจตนาเข้ารับเอาประโยชน์ตามกรมธรรม์ ดังนั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิใด ๆ เมื่อสิทธิของผู้รับประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นตามกฎหมาย นายสมชัด ผู้เอาประกันภัยในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และเมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายแล้ว ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย เพราะได้มาหลังจากผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายแล้ว จึงต้องอาศัยบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง เงินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อโจทก์เป็นมารดาของผู้ตายย่อมเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีสิทธิรับมรดก จึงมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยอุทธรณ์ ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 200,000 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เท่ากับทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เกินมา 400 บาท ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาโดยมีคำขอให้ชำระเงินตามคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ในส่วนดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องถือว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนั้นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงมีเพียง 200,000 บาท เช่นกัน การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาเท่ากับทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมา 400 บาท เช่นกัน จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยเสียเกินมาแก่จำเลยและคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่โจทก์เสียเกินมาแก่โจทก์

Share