คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์กับจำเลยจะโต้เถียงกันในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่จนคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้จำเลยชนะซึ่งถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา22วรรคสี่(1)แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้โจทก์อ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า POLO ทั้งหมด และเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนดีกว่าจำเลย ทั้งให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า POLO รวมทั้งเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลย ให้การ ต่อสู้ คดี ขอให้ ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฟ้องของโจทก์มิได้โต้เถียงเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “POLO” ของจำเลยตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิซึ่งถึงที่สุด แต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “POLO” รวม 10 แผ่นใช้กับสินค้าของโจทก์ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย น้ำหอมเครื่องหนัง และสินค้าอื่นอีกหลายชนิด ซึ่งโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนไว้ในประเทศต่าง ๆเกือบทั่วโลกมาเป็นเวลานานหลายปี และต่อมาโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าพิพาทไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ยอมรับจดอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเห็นได้ว่า กรณีที่โต้เถียงกันในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างบริษัทโปโล แฟชั่นส์ อิงค จำกัดหรือหากจะฟังดั่งศาลล่างวินิจฉัยว่ากระทำการแทนโจทก์กับจำเลยเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ซึ่งในปัญหานี้ เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคสี่(1)แต่ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 22 วรรคสี่(1) ดังนั้นโจทก์จะได้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะในฐานะตัวการมอบให้ผู้อื่นกระทำการแทนในชั้นพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียนหรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้การวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลยและที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยคิดเครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นเอง จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานสืบสนับสนุนเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ จึงไม่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นอักษรโรมันคำเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันเช่นนี้ เชื่อว่าจำเลยจงใจใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “POLO” ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยจำเลยเห็นว่าสินค้าของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะคำว่า “POLO” นี้เป็นที่นิยมแพร่หลายเพื่อให้ผู้ซื้อหลงเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “POLO” มาก่อนจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “POLO” ดีกว่าจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชนะคดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ (ก) 144934 ทะเบียนเลขที่ 108815

Share