คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ซื้อและขายข้าว จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการมาตรวจ ปรากฏว่าข้าวขาดจำนวน แต่จำเลยไม่มีเงินมาให้ตรวจ จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ว่าจำเลยทำเงินขาดไป ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องข้าวขาดหรือเงินขาดก็ได้ จำเลยก็จะต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้เช่นเดียวกัน หนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ขัดกับคำฟ้องที่ว่าจำเลยทำข้าวเปลือกขาดจำนวนไปอันเป็นเพียงการกล่าวไปถึงมูลเหตุที่จำเลยจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้เท่านั้น แต่ข้อใหญ่ใจความของฟ้องโจทก์ก็คือ เรียกเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ ที่จำเลยทำให้ไว้นั่นเอง
พยานจำเลยเป็นพยานหมาย แต่จำเลยไม่ขอหมายเรียกพยานให้มาศาล ถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย ทั้งตัวจำเลยเองก็ไม่ได้มาศาล คงมีแต่โทรเลขบอกมายังทนายว่าป่วย ขอเลื่อนถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการบอกป่วยมาลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานอย่างใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับจำเลยไม่ขอหมายเรียกพยานล่วงหน้าเสียด้วย เลยไม่มีพยานมาศาลเช่นนี้ รูปเรื่องแสดงว่า จำเลยแกล้งประวิงคดีให้ล่าช้า ศาลย่อมสั่งงดพยานจำเลยเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ซื้อและจำหน่ายข้าวจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ ๒เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ได้ทำข้าวเปลือกซึ่งอยู่ในหน้าทีขาดไป น้ำหนัก ๔,๑๒๐ ก.ก. คิดเป็นเงิน ๒,๖๓๗ บาท ๔๙ สตางค์ จำเลยที่ ๑ ไม่มีเงินใช้จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้โจทก์ ๒๓๗ บาท ๔๙ สตางค์ คงเหลือ ๒,๔๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ข้าวเปลือกถูกฝนเสื่อมเสีย และลดน้ำหนักลงไปเอง จำเลยไม่ต้องรับผิดสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเรื่องโจทก์เรียกเงินสดมาตรวจ จำเลยไม่มีให้ตรวจ จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ แต่จำเลยได้ชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องจึงต่างกับข้อเท็จจริงในสัญญา และว่าฟ้องเคลือบคลุม
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๒,๔๐๐ บาท แก่โจทก์กับดอกเบี้ย ร้อยละ ๑๐ ต่อไป จากต้นเงิน ๒,๔๐๐ บาท แต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
คดีนี้ จำเลยที่ ๑ ฎีกาข้อกฎหมาย ๒ ข้อ คือ
(๑) ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ สัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้ ฟังได้ตามกฎหมายเพียงไร
(๒) ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยเสียนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
สำหรับข้อ (๑) จำเลยอ้างว่า คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยทำข้าวขาดหาย แต่ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า เรียกเงินสดที่จำเลยรักษาไว้มาตรวจ แต่จำเลยไม่มีตัวเงิน ข้อความจึงขัดกัน ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าจำเลยทำข้าวเปลือกขาดจำนวนไป เป็นการกล่าวไปถึงมูลเหตุที่จำเลยจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้เท่านั้น แต่ข้อใหญ่ใจความของฟ้องโจทก์นี้ ก็คือ เรียกเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ ที่จำเลยทำให้ไว้นั่นเอง อนึ่งตามเรื่องมีว่า โจทก์เป็นสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ซื้อและขายข้าว จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการมาตรวจ ปรากฏว่าข้าวขาดจำนวน จำเลยก็จะต้องชดใช้เงิน เพราะเท่ากับจำเลยขายข้าวไปแล้ว แต่ไม่มีเงินมาให้ตรวจ จำเลยจึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ ซึ่งจะว่าเป็นเรื่องข้าขาดหรือเงินขาดก็ได้ จำเลยก็จะต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้เช่นเดียวกัน หนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ขัดกับคำฟ้อง เมื่อจำเลยรับอยู่ว่าทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์จริง คงโต้เถียงแต่เพียงว่า ได้ใช้หนี้ให้โจทก์เสร็จไปแล้ว ประเด็นของคดีจึงมาอยู่ที่ว่า จำเลยใช้หนี้แล้วจริงหรือไม่เท่านั้น
สำหรับข้อ (๒) ศาลฎีกาเห็นว่า พยานจำเลยเป็นพยานหมาย แต่จำเลยไม่ขอหมายเรียกพยานให้มาศาล ถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย ทั้งตัวจำเลยเองก็ไม่ได้มาศาล คงมีแต่โทรเลขมาบอกมายังทนายว่าป่วย ขอเลื่อนถึง ๒ ครั้ง ซึ่งเป็นการบอกป่วยมาลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานอย่างใด เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับจำเลยไม่ขอหมายเรียกพยานล่วงหน้าเสียด้วย เลยไม่มีพยานมาศาลเลยเช่นนี้ รูปเรื่องแสดงว่าจำเลยแกล้งประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดพยานจำเลยเสียนั้นชอบแล้ว

Share