คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กองทรัพย์สินของตระกูลไม่ใช่นิติบุคคล จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ๆไม่ได้
ญาติๆลงชื่อจำเลยในโฉนดเพื่อคุ้มครองมิให้ต้องถูกเกณฑ์ทหารนั้นไม่ถือว่าเป็นการให้จริงจัง จำเลยคงเป็นผู้แทนของพวกญาติ ที่ดินไม่ตกเป็นกรรมสิทธิของจำเลย
บุคคลจักษุพิการ ซึ่งศาลยังไม่ได้สั่งว่า เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ยังคงมีความสามารถดำเนินคดีในศาลได้เช่นบุคคลทั้งหลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 50 ปีมาแล้วนางกลิ่นมารดาโจทก์ที่ 1 ยายโจทก์ที่ 2 ได้รวบรวมเงินจากบรรดาบุตรหลาน 19 คนและของนางกลิ่นเองด้วย จัดซื้อที่ดินยังไม่มีโฉนดหนึ่งแปลงเพื่อเก็บดอกผลทำบุญเส้นไหว้บรรพบุรุษ (แซ่กิม)นางกลิ่นเป็นผู้ดูแล นางกลิ่นตายแล้ว ต่อมาผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมได้ขอรังวัดออกโฉนดใส่ชื่อนายน้ำนางสินบุตรนางกลิ่นเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อ 45 ปีมานี้นายน้ำนางสินและผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงให้โอนใส่ชื่อนายเขียดเป็นเจ้าของที่พิพาท เพื่อคุ้มครองการเกณฑ์ทหาร ต่อมานายเขียดกับหุ้นส่วนได้ตกลงโอนใส่ชื่อจำเลยเพื่อคุ้มครองการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกัน ส่วนที่ดินมอบให้นายแพบิดาจำเลยเก็บผลประโยชน์ทำบุญเส้นไหว้ นายแพตาย พ.ศ. 2480 โจทก์และหุ้นส่วนตกลงให้จำเลยเป็นผู้ดูแลเก็บผลประโยชน์แทน ครั้นวันที่ 5 พฤษภาคม 2494 จำเลยละเลยไม่ทำบุญเส้นไหว้ ไม่แสดงบัญชีรับ-จ่ายจึงขอให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินและเงิน ฯลฯ

จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทได้โอนเป็นของจำเลยโดยชอบโดยไม่ทราบว่าโอนให้จำเลยด้วยเหตุอะไร จำเลยครอบครองโดยสงบและเปิดเผยมา 40 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยทำการใด ๆ ในนามของหุ้นส่วน และตัดฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 จักษุพิการไร้ความสามารถไม่อาจดำเนินคดีในศาลได้ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งที่ดินและเงินผลประโยชน์ส่วนตัวได้ เพราะได้อุทิศเป็นสมบัติของตระกูลแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินและเงินผลประโยชน์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยโต้เถียงว่าที่ดินเป็นของกองทรัพย์ของตระกูลแซ่กิม จึงขอแบ่งไม่ได้นั้น เห็นว่าตระกูลแซ่กิมไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินใด ๆ ไม่ได้ ที่ดินจึงเป็นทรัพย์ของผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ที่จำเลยเถียงว่าจำเลยครอบครองมีชื่อในโฉนดมา 40 ปีนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าได้ลงชื่อจำเลยเป็นเจ้าของเพื่อประโยชน์มิให้ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่การให้จริงจัง จำเลยคงเป็นเพียงผู้แทนของโจทก์กับพวกที่ดินจึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ส่วนที่จำเลยว่าโจทก์ที่ 1 จักษุพิการไม่สามารถดำเนินคดีได้นั้น เห็นว่ายังไม่มีศาลใดสั่งว่าโจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์จึงคงมีความสามารถดำเนินคดีในศาลได้

จึงพิพากษายืน

Share