แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท เป็นเงินที่จำเลย ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แก่บุคคลอื่นก่อนกระทำความผิดคดีนี้ เงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิดเพราะการขายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดของกลางจำนวน2,860 บาท ตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 102 ซึ่งเป็นบทเฉพาะเนื่องจากเงินสดดังกล่าวมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่เงินสดของกลางดังกล่าวจำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แม้จะไม่ได้มาโดยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้โดยตรงก็ตามศาลก็มีอำนาจริบเงินสด ของกลางจำนวน 2,860 บาท ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) แม้โจทก์จะมิได้ระบุมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาลการสั่งริบของกลางดังกล่าวจึงหาเป็นการสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 192 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด น้ำหนักรวม 0.18 กรัมให้แก่ผู้ล่อซื้อไปในราคา 240 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 1 ฉบับและธนบัตรฉบับละ 20 บาท จำนวน 2 ฉบับ ที่ใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ดกับเงินสดจำนวน 2,860 บาท ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่บุคคลอื่นก่อนกระทำความผิดคดีนี้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66 และ 102ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสดจำนวน 2,860 บาท ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและ 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือนริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายเพียงว่า ศาลมีอำนาจสั่งริบเงินสดจำนวน2,860 บาท ของกลางที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนกระทำความผิดคดีนี้หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ว่า เงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท เป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่บุคคลอื่นก่อนกระทำความผิดคดีนี้ เงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยได้กระทำความผิดเพราะการขายเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แม้ศาลจะไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 ซึ่งเป็นบทเฉพาะเนื่องจากเงินสดดังกล่าวมิใช่เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตามแต่เงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท ดังกล่าวจำเลยก็ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแม้จะไม่ได้มาโดยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในคดีนี้โดยตรงก็ตาม ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาทได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) แม้โจทก์จะมิได้ระบุมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาลดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การสั่งริบของกลางดังกล่าวจึงหาเป็นการสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 192 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ริบเงินสดของกลางจำนวน2,860 บาท นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 2,860 บาท ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์