คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2053/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน ได้ถูกครูกล่าวหาว่าเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยทั้ง 8 ในฐานะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ออกคำชี้ขาดว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับครูผู้กล่าวหาเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายเงินให้ผู้กล่าวหาอีกจำนวนหนึ่ง โดยให้โจทก์ปฏิบัติภายใน 15 วันนั้น คำชี้ขาดดังกล่าวได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 75 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 คำชี้ขาดตามประกาศดังกล่าว ข้อ 17,18 ให้บังคับได้เป็นเวลา 1 ปี หาใช่เป็นเพียงคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานหรือพนักงานเงินทดแทนไม่ ถือได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน ได้ถูกกล่าวหาว่าเลิกจ้างผู้กล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม จำเลยในฐานะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ชี้ขาดว่าการกระทำของโจทก์ที่เลิกจ้างผู้กล่าวหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้โจทก์รับผู้กล่าวหาเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายเงินให้แก่ผู้กล่าวหา โดยให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งภายใน 15 วัน ซึ่งการชี้ขาดดังกล่าวจำเลยมิได้สืบพยานโดยตนเอง จึงวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลย

จำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 7 และ 8 ให้การว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายและวิธีปฏิบัติแล้ว และจำเลยที่ 4 ยังได้ตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 198 ส่วนจำเลยที่ 6 มิได้ยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่ง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการออกคำเตือน หากโจทก์เห็นว่าคำเตือนไม่ถูกต้องก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามยังถือมิได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยในฐานะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ออกคำชี้ขาดโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 75 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 คำชี้ขาดตามประกาศดังกล่าวข้อ 17, 18 ใช้บังคับได้เป็นเวลา 1 ปี มิใช่เป็นเพียงคำเตือน ถือว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง คดียังมีข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาสืบพยานต่อไปพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 1, 3, 5, 7 และ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นกรณีตามข้อ 75 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งให้กรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด ถ้าปรากฏมีการฝ่าฝืนก็ให้สั่งเป็นหนังสือ ให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำหรืองดเว้นการกระทำตามควรแก่กรณี คำชี้ขาดของคณะกรรมการตามข้อ 75 นี้ แม้มิได้มีข้อบัญญัติว่าคู่กรณีต้องปฏิบัติตามก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นว่าเมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ชี้ขาดแรงงานและวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าคู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น เมื่อการชี้ขาดของจำเลยมีผลให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยได้

พิพากษายืน

Share