คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะเห็นว่าลายมือ มีคุณลักษณะและรูปลักษณะของการเขียนแตกต่างกัน น่าจะไม่ใช่ ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ รับสภาพหนี้เป็นเอกสารที่ทำไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีเอกสารที่ได้ทำขึ้นในช่วง ระยะใกล้เคียงกับวันดังกล่าวซึ่งเป็นการเขียนแบบบรรจงส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ด้วยทั้งรูปแบบการเขียนลายมือชื่อโจทก์ที่ระยะเวลาใกล้เคียงกับเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ก็ไม่มี ดังนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้น เนื่องจากลายมือชื่อโจทก์มีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความซึ่งเป็นลายมือเขียนหวัดและเวลาเขียนต่างกันตามกาลเวลา ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์ และการวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มี กฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังตามข้อสันนิษฐานหรือข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใด ทั้งมิใช่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้วศาลต้องฟังเสมอไป เมื่อโจทก์ยังมี ภาระหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด การที่โจทก์รับว่าเช็คทั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของ จำเลยที่ 1 ตลอดมาย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นในลักษณะ ลายมือชื่อโจทก์มาก่อนที่มีการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ จึงไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยทั้งสองจะทำการปลอมลายมือชื่อ ของโจทก์เป็นแบบตัวบรรจงให้แตกต่างออกไปให้เห็นได้โดยประจักษ์พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือรับสภาพหนี้และปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในช่องลูกหนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชน เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารดังกล่าวฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีแทนเพื่อให้โจทก์ชำระหนี้ตามเอกสารดังกล่าว ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ศาลจังหวัดเชียงราย และประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 90, 91, 264, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่าพันตำรวจโทประจวบ ควรขจรผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์กับลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือรับสภาพหนี้ ผลปรากฎตามรายงานการตรวจพิสูจน์ว่าน่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้หรือไม่การนำสืบของโจทก์ข้อนี้โจทก์ขอส่งตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ในปัจจุบัน (ขณะส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์) ลายมือชื่อตามเช็ค3 ฉบับ ลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความลงวันที่ 21 มีนาคม2537 กับลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 และมีคำเบิกความของพันตำรวจโทประจวบเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ว่าลายมือมีคุณลักษณะและรูปลักษณะของการเขียนแตกต่างกันน่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เห็นว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นไว้ดังกล่าวก็ตามเมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย ปจ.1(ศาลอาญากรุงเทพใต้) เป็นเอกสารที่ทำไว้เมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2536 ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีเอกสารที่ได้ทำขึ้นในช่วงระยะใกล้เคียงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นการเขียนแบบบรรจงส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ด้วยทั้งรูปแบบการเขียนลายมือชื่อโจทก์ที่ระยะเวลาใกล้เคียงกับเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ก็ไม่มี ดังนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้นเนื่องจากลายมือชื่อโจทก์มีคุณสมบัติ การเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความซึ่งเป็นลายมือเขียนหวัดและเวลาเขียนต่างกันตามกาลเวลาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์การวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังตามข้อสันนิษฐานหรือข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใดและมิใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้วศาลฟังเสมอไป ในเมื่อโจทก์ยังมีภาระหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดซึ่งต่างกับคดีส่วนแพ่งที่ผูกพันคู่ความที่สละประเด็นต่าง ๆโดยให้ถือคำท้าเป็นข้อแพ้ชนะในคดีโดยเฉพาะเช็คเอกสารหมาย ปจ.2(ศาลอาญากรุงเทพใต้) ทั้งสามฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายในปี 2527ซึ่งโจทก์รับว่าเช็คทั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตลอดมา ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นในลักษณะลายมือชื่อโจทก์มาก่อนที่มีการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย ปจ.1 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) จึงไม่มีเหตุประการใดที่จำเลยทั้งสองจะทำการปลอมลายมือชื่อของโจทก์เป็นแบบตัวบรรจงให้แตกต่างออกไปให้เห็นได้โดยประจักษ์ พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share