คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มูลหนี้ที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์เกิดจากความเสียหายที่จำเลยรับเป็นทนายความว่าความให้โจทก์ ซึ่งถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยเป็นตัวแทน แล้วจำเลยไม่ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกหนี้เงินกู้จาก ป. แต่กลับปลอมสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยได้ฟ้อง ป. และ ป. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังกล่าวจึงเกิดจากการที่จำเลยไม่ทำการเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงมิใช่กรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามมาตรา 420, 448

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยกระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ โดยจำเลยตกลงชำระเงินให้โจทก์จำนวน 400,000 บาท ชำระในวันทำสัญญา 50,000 บาท และตกลงว่าภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 จะชำระอีก 30,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด งวดละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับได้ทันที หลังจากนั้นจำเลยชำระหนี้คืนโจทก์หลายครั้งแต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2543 รวมเป็นเงินที่จำเลยชำระคืนโจทก์ 164,000 บาท จำเลยผิดนัดตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 เป็นต้นมาจึงต้องรับผิดชำระเงินคืนโจทก์จำนวน 236,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ไว้สืบเนื่องจากมูลละเมิด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ถึงกำหนดชำระแต่ละงวด ซึ่งงวดสุดท้ายถึงกำหนดชำระเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 และที่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง นับจากจำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายแก่โจทก์ในเดือนมีนาคม 2543 อันถือเป็นวันซึ่งหนี้ทั้งจำนวนตามหนังสือรับสภาพหนี้ถึงกำหนดชำระ ซึ่งตามระยะเวลาดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องเกินกว่า 1 ปี พ้องโจทก์จึงขาดอายุความ กับหนังสือรับสภาพหนี้จัดทำขึ้นหลังจากสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดขาดอายุความแล้ว แม้ฟังว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการรับสภาพความผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี นับแต่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ในเดือนมีนาคม 2543 หรืออย่างช้าเมื่องวดสุดท้ายถึงกำหนดชำระเดือนกรกฎาคม 2543 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 236,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 มีนาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมโจทก์ว่าจ้างให้จำเลยเป็นทนายความฟ้องนายปรีชา ตังสุรัตน์ เรียกหนี้เงินกู้ จำเลยได้รับค่าจ้างว่าความไปแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการฟ้องร้องนายปรีชาเรียกหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์โดยระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2535 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 จำเลยได้อ้างแสดงสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นที่จำเลยเป็นผู้ทำปลอมขึ้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มิถุนายน 2535 มีใจความว่าจำเลยได้ยื่นฟ้องนายปรีชาและนายปรีชาได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาลยอมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 460,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1127/2539 ของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยได้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาดังกล่าวในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมแล้ว จำเลยจึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้คดีนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 400,000 บาท ตามสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์เกิดจากความเสียหายที่จำเลยรับเป็นทนายความว่าความให้โจทก์ ซึ่งถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยเป็นตัวแทน แล้วจำเลยไม่ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกหนี้เงินกู้จากนายปรีชา แต่กลับปลอมสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยได้ฟ้องนายปรีชาและนายปรีชาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดชำรหนี้ให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์เสียหายความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ดังกล่าวจึงเกิดจากการที่จำเลยไม่ทำการเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ซึ่งได้มีบทบัญญัติอายุความได้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงหาใช่เป็นกรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 448 ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยประเด็นเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วฟังว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลเปลี่ยนแปลงไป ข้อฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 และ 167”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share