คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6334/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับโจทก์จะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้ โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2545 จำเลยได้ยื่นคำขอกู้เงินสินเชื่อบุคคลทันใจกับบริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด ได้อนุมัติวงเงินให้จำเลย 80,000 บาท จำเลยได้รับเงินกู้ครบถ้วนแล้วและตกลงชำระเงินคืนเป็นงวด รวม 36 งวด โดยชำระงวดละ 2,773.20 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มิถุนายน 2545 จำเลยชำระเงินงวดสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2546 จำนวน 2,773.20 บาท ยังคงค้างชำระต้นเงิน 59,994.10 บาท ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2547 บริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบพร้อมกับทวงถามให้ชำระหนี้แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 87,510.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 59,994.10 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกานั้น ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ บทกฎหมายดังกล่าวหาได้บัญญัติว่าหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอนแต่อย่างใดไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าหนี้จำเลยในมูลหนี้เงินกู้ และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแต่ประการใด การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมสามารถกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง บริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด จึงโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินรายนี้ให้แก่โจทก์ได้ แม้การโอนสิทธิเรียกร้องจะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าวก็ตาม ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องก็ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้ โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share