คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6197/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคท้าย ให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว
เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อ
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วกลับนำที่ดินพิพาทมาขายทอดตลาด โดยไม่รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อนซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ ภายในกำหนด 6 เดือน หากผิดนัดครั้งแรกจำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวภายใน 6 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จหากผิดนัดครั้งที่สอง จำเลยทั้งสองยอมชำระเงินให้โจทก์จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนและค่าทนายความให้เป็นพับ แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ วันที่ 3 พฤษภาคม 2544 โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 15299 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ก่อนนำทรัพย์สินที่ยึดออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2544 ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปล่อยที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขอ ผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยการวางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งหมายแก่เจ้าพนักงานศาลแล้ว แต่ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้น ซึ่งนายสมชาย ศรศักดาการ เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้โดยได้ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ครบถ้วนและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว
วันที่ 23 ธันวาคม 2545 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยอ้างว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในคำร้องขัดทรัพย์ที่ดินพิพาทของผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องเพิ่งทราบเรื่องอันเป็นมูลเหตุขอเพิกถอนการบังคับคดีในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จึงขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้นำสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ไปให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยไม่ทราบเรื่อง ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อที่ดินพิพาทในการขายทอดตลาดโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และได้ชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วน เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าวันที่ 7 ตุลาคม 2545 ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ โดยเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานศาลเพื่อส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยไม่ได้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้ร้องเพียงแต่เสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าพนักงานศาลเพื่อส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานศาลยังไม่ได้ไปส่งหมายดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเรื่องการร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไปโดยไม่ทราบว่ามีการร้องขัดทรัพย์ไว้ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 70 วรรคท้ายให้แก่เจ้าพนักงานศาล มีผลเท่ากับผู้ร้องได้นำส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ส่วนเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่ในการส่งได้ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องขัดทรัพย์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้หรือไม่นั้น ปรากฏว่าข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2545 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดไปในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 แม้ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทผู้ร้องไม่ได้ไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ได้ไปแจ้งอายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อห้ามโอนที่ดินพิพาท ก็ไม่อาจถือว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับสำเนาคำร้องขัดทรัพย์แล้วกลับนำที่ดินพิพาทมาขายทอดตลาด โดยไม่รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นในเรื่องร้องขัดทรัพย์เสียก่อนซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง อันเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามที่โจทก์ฎีกา ส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อที่ดินพิพาทในการขายทอดตลาดโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และได้ชำระเงินค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว รวมทั้งโจทก์อาจจะได้รับความเสียหายจากการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่อไป ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนมีความชัดเจนเพียงพอที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยได้ว่าการขายทอดตลาดชอบหรือไม่โดยไม่ต้องไต่สวน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจงดการไต่สวนได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share