แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 กำหนดให้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าระหว่าง ก. กับโจทก์ที่ยังมิได้จดทะเบียนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทตู้เก็บเอกสารและอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน โดยใช้เครื่องหมายการค้าเขียนเป็นภาษาต่างประเทศว่า TAIYO ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วและโจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าที่โจทก์ผลิตมาตลอด และประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจนเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้าจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ จำเลยเป็นเจ้าของสถานประกอบพาณิชยกิจใช้ชื่อว่า แมกเทนสตีล ประกอบกิจการขายเครื่องเรือน อุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องแต่งบ้าน เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2546 บริษัทไทยปันโฮเต็ล จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์สั่งซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวซึ่งผลิตจากโรงงานของโจทก์จากจำเลย จำเลยตกลงขายและจัดส่งสินค้า ตลอดจนรับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อไปเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ซื้อเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ ต่อมาผู้ซื้อเรียกร้องมายังโจทก์ว่าสินค้าที่ซื้อไม่มีมาตรฐานและคุณภาพตามที่โจทก์โฆษณา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 โจทก์จึงส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัทดังกล่าวซื้อไป ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มิได้ผลิตโดยโจทก์ แต่เป็นสินค้าปลอมที่จำเลยแอบอ้างว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ด้วยการนำตราเครื่องหมายการค้า TAIYO ที่โจทก์ใช้ไปติดบนสินค้าเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงอย่างมากเนื่องจากบริษัทไทยปันโฮเต็ล จำกัด เป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงธุรกิจ ทำให้ลูกค้าของโจทก์รายอื่นในวงธุรกิจไม่เชื่อถือและไม่พิจารณาสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ โจทก์ต้องสร้างความเชื่อถือให้ลูกค้าโดยตรงกับบริษัทไทยปันโฮเต็ล จำกัด ว่าจะจัดส่งสินค้าใหม่ให้ และประชาสัมพันธ์ไปยังลูกค้าอื่นเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงในสินค้าของโจทก์กลับคืน โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของโจทก์จากการกระทำละเมิดของจำเลยเป็นเงิน 400,000 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกค่าเสียหายไปยังจำเลยแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ขณะบริษัทไทยปันโฮเต็ล จำกัด สั่งซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สินค้านั้นหมดจากร้านของจำเลย จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์นำสินค้ามาส่งให้ แต่โจทก์กลับนำแต่ตัวเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาให้จำเลยโดยแจ้งว่ายังผลิตสินค้าไม่ทัน ให้นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปติดสินค้าอื่นที่ยังไม่มีเครื่องหมายการค้าก่อนโดยบอกว่ามีคุณภาพเช่นเดียวกัน จำเลยจึงทำตามที่โจทก์แนะนำ แล้วนำสินค้าไปส่งให้บริษัทผู้ซื้อ ซึ่งโจทก์ก็ทราบและไม่ทักท้วง โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้รับจดทะเบียนการโอนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า TAIYO จากนายเกรียง สูริบัตร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 ก่อนหน้านั้นคือเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 นายเกรียงได้ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอนุญาตให้โจทก์ใช้และผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ หนังสืออนุญาตฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 และวันที่ 22 ตุลาคม 2546 ตามลำดับ
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุเครื่องหมายการค้าพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่า ในขณะที่มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาท สิทธิของโจทก์มีเพียงตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทที่ยังมิได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น บทบัญญัติตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 กำหนดให้สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าระหว่างนายเกรียง สูริบุตรกับโจทก์ที่ยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 152 โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่าละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ