แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยที่ 1 และโจทก์ต่างเป็นลูกวงแชร์ ต่างมีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและย่อมมีสิทธิในการเข้าประมูล ระหว่างลูกแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกัน หาใช่จะผูกพันเฉพาะระหว่างลูกแชร์กับนายวงแชร์ไม่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลแชร์ได้และรับเช็คจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์คนหนึ่งไปและเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยที่ 1จะอ้างว่าไม่มีความผูกพันกับโจทก์ไม่ได้ การที่นางวงแชร์หลบหนีอันมีผลทำให้สัญญาแชร์เลิกกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไปคู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระหนี้ตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนจำเลยที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคม 2531นายย่งไค่ แซ่แต้ ชักชวนโจทก์เล่นแชร์ 1 หุ้น โดยนายย่งไค่เป็นนายวงแชร์ ใช้ชื่อว่า “ไค่กี่ออดิโอ” ขึ้นแชร์วงเงิน150,000 บาท ประมูลเดือนละครั้ง ครั้งละ 80,000 บาท ทุกวันที่10 ของเดือน มีผู้เล่นรวมทั้งนายย่งไค่ 18 หุ้น โจทก์ตกลงเล่น 1 หุ้น ใช้ชื่อว่า “ลี้จงเชี้ยง” จำเลยที่ 1 เล่น 1 หุ้นใช้ชื่อว่า “แต้ติ้งคิม” เริ่มเล่นเดือนตุลาคม 2531 เดือนแรกโจทก์และลูกวงคนอื่นได้จ่ายเงินให้นายย่งไค่หุ้นละ 150,000 บาทโดยนายย่งไค่ได้มอบเช็คที่มิได้ลงวันที่ให้ลูกวงที่ให้ลูกวงหุ้นละ 150,000 บาท ยึดถือไว้เพื่อนำไปลงวันที่และเรียกเก็บเงินเมื่อประมูลแชร์ในงวดต่อ ๆ ไปได้ เดือนที่สองลูกวงทั้งหมดจะประมูลแชร์กันเองในวงเงินหุ้นละ 80,000 บาท ผู้เสนอผลตอบแทน(ดอกเบี้ย) สูงสุดซึ่งเป็นผู้ประมูลได้จะออกเช็คไม่ลงวันที่ให้ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้หุ้นละ 80,000 บาท โดยผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ก็จะออกเช็คลงวันที่ 15 ของเดือนและปีที่ประมูลให้ผู้ประมูลได้เป็นจำนวนเงินเท่ากับ 80,000 บาท หักด้วยค่าตอบแทนต่อหุ้น ผู้ประมูลได้จะได้รับเงินคืนจากหัวหน้าวงจำนวน150,000 บาท และจากลูกวงที่ยังประมูลไม่ได้หุ้นละ 80,000 บาทหักด้วยค่าตอบแทนที่ประมูลเดือนที่สามลูกวงที่เหลือก็ประมูลกันเอง ผู้ประมูลได้จะได้รับเงินคืนจากหัวหน้าวง 150,000 บาทจากผู้ประมูลได้ในเดือนที่สอง 80,000 บาท และจากผู้ที่ยังประมูลไม่ได้หุ้นละ 80,000 บาท หักด้วยค่าตอบแทนที่ประมูลโดยต้องออกเช็คไม่ลงวันที่ให้ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้หุ้นละ80,000 บาท จะปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าจะครบวง ลูกวงที่ประมูลได้ในแต่ละเดือนจะเป็นผู้ลงวันที่ 15 เดือน และปีที่ตนประมูลได้ในเช็คที่ได้รับจากหัวหน้าวงและจากผู้ประมูลได้ในเดือนก่อน ๆ เองในเดือนที่สองจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้โดยเสนอผลตอบแทนสูงสุดเป็นเงิน 6,600 บาท โจทก์จึงได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531 จำนวนเงิน 73,400 บาท ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้นำไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 และเพื่อเป็นการตอบแทนจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าแชร์โดยออกเช็คธนาคารไทยทนุ จำกัด สำนักงานใหญ่ ไม่ลงวันที่ให้แก่ลูกวงคนอื่นรวมทั้งโจทก์ในยอดเงิน 80,000 บาท ต่อหุ้นเช็คดังกล่าวจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายทั้งในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการผู้มีอำนาจและประทับตราของจำเลยที่ 3 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาต้นเดือนธันวาคม 2531นายย่งไค่ หลบหนี แชร์วงดังกล่าวจึงเลิกล้ม ลูกวงที่ยังประมูลไม่ได้ได้ตกลงให้เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยมอบให้แก่ลูกวงไว้เริ่มจากเดือนพฤศจิกายน 2531 และเดือนต่อ ๆ ไปเดือนละฉบับต่อหุ้น ซึ่งฉบับที่โจทก์ได้รับกำหนดเรียกเก็บเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2533 ถึงกำหนดโจทก์ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์2533 ในเช็คของจำเลยข้างต้นแล้วนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกวงผู้ประมูลแชร์ได้และชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการของจำเลยที่ 3ร่วมสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สั่งจ่ายต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องจำนวน 500 บาท รวมเป็นเงิน 80,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 80,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเล่นแชร์ที่นายย่งไค่เป็นนายวงแชร์ แต่จำเลยที่ 1 มิได้เล่นแชร์เป็นการส่วนตัวแต่เล่นแทนจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้เล่นแทนจำเลยที่ 3 เริ่มเล่นเดือนตุลาคม 2531 มีผู้เล่นทั้งสิ้น 18 หุ้น หุ้นละ 80,000 บาท ครั้งแรกหัวหน้าวงเรียกเก็บเงินจากลูกวงคนละ 150,000 บาท โดยไม่ต้องประมูล และออกเช็คไม่ลงวันที่จำนวนเงิน 150,000 บาท ให้ลูกวงทุกคนลูกวงจะนำไปเรียกเก็บเงินได้ต่อเมื่อเป็นผู้ประมูลได้หรือแชร์เลิกล้มก่อนถึงกำหนดไม่ว่ากรณีใด ลูกวงตกลงประมูลกันทุกวันที่10 ของเดือนเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2531 ผู้ให้ดอกเบี้ยสูงสุดซึ่งเป็นผู้ประมูลได้ จะออกเช็คไม่ลงวันที่ให้ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้จำนวนเงิน 80,000 บาท โดยมอบให้แก่หัวหน้าวงนำไปให้ลูกวงรายอื่น และหัวหน้าวงจะรวบรวมเงินจากลูกวงที่ยังประมูลไม่ได้ซึ่งจะสั่งจ่ายเช็คไม่ลงวันที่จำนวนเงิน 80,000 บาท หักดอกเบี้ยที่ประมูลได้มามอบให้ผู้ประมูลได้ เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้นายย่งไค่นำเช็คมาให้จำเลยที่ 2 เพื่อเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3เพียง 6 ถึง 7 ฉบับ ไม่ครบจำนวนลูกวง ส่วนที่เหลือนายย่งไค่นำหลบหนีไปแชร์จึงล้มและหนี้ค่าแชร์ระหว่างลูกวงเป็นอันระงับไปเพราะก่อนเล่นนายย่งไค่ได้ตกลงและเป็นประเพณีการเล่นแชร์ว่าหากแชร์ล้มไม่ว่าเพราะกรณีใด หัวหน้าวงเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว หนี้ตามเช็คที่ลูกวงประมูลได้ออกให้แก่ลูกวงรายอื่นเป็นอันระงับไป โจทก์ลงวันที่ในเช็คพิพาทโดยจำเลยทั้งสามไม่รู้เห็นยินยอมและไม่เคยตกลงให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คหลังจากที่แชร์เลิก เป็นการกระทำไม่สุจริต โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายว่าโจทก์เสียหายเกี่ยวกับการเล่นแชร์อย่างไรบ้าง ไม่ระบุแจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดในเรื่องเช็คหรือแชร์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ไม่ฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์แทนจำเลยที่ 3ได้ คือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 และเช็คพิพาทโจทก์ได้รับจากจำเลยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2531 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินจำนวน80,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน80,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กันยายน 2533)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ และจำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวตามที่โจทก์ฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นลูกวงแชร์ด้วยกันซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกวงแชร์นั้น ตามปกติเป็นเรื่องระหว่างนายวงแชร์กับลูกวงแชร์แต่ละคนเพราะลูกวงแชร์แต่ละคนมาร่วมกันเล่นแชร์กับนายวงแชร์ ลูกแชร์ร่วมวงเดียวกันไม่มีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายที่จะต้องรับผิดต่อกันแต่อย่างใดเว้นแต่จะมีข้อตกลงกันในระหว่างลูกวงแชร์ร่วมวงกันที่จะมีความสัมพันธ์ในหน้าที่ความรับผิดต่อกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อกฎหมายนั้นพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1ร่วมเล่นแชร์ที่นายย่งไค่ แซ่แต้ เป็นนายวงแชร์คนละ 1 หุ้นโดยมีผู้ร่วมเล่นแชร์ทั้งหมดรวมทั้งนายวงแชร์ 18 หุ้น เริ่มเล่นแชร์เดือนตุลาคม 2531 ลูกวงมอบเงินให้นายย่งไค่คนละ150,000 บาท โดยไม่มีการประมูลและนายย่งไค่มอบเช็คให้ลูกวงจำนวนเงินหุ้นละ 150,000 บาท ไม่ลงวันที่เพื่อให้ไปลงวันที่ 15 ของเดือนที่ลูกวงนั้น ๆ ประมูลได้ ลูกวงประมูลกันทุกวันที่ 10 ของเดือน โดยลงเงินหุ้นละ 80,000 บาท เริ่มเดือนพฤศจิกายน 2531 ผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดเป็นผู้ประมูลได้ ลูกวงที่ประมูลไม่ได้ต้องชำระเงินลงหุ้นเป็นเช็คจำนวนเงิน80,000 บาท หักด้วยผลตอบแทนที่ผู้ประมูลได้เสนอให้นายย่งไค่เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประมูลได้ และนำไปเรียกเก็บเงินนับแต่วันที่15 ของเดือนที่ประมูลได้เป็นต้นไป ผู้ประมูลได้จะลงวันที่ 15ของเดือนที่ประมูลได้ในเช็คที่ได้รับและนำไปเรียกเก็บเงินโดยลูกวงผู้ประมูลได้ต้องมอบเช็คให้ลูกวงที่ประมูลไม่ได้หุ้นละ80,000 บาท ไม่ลงวันที่เพื่อลูกวงจะได้นำไปลงวันที่ 15 ของเดือนที่ประมูลได้ต่อไปแล้วนำไปเรียกเก็บเงิน จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ในเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้ โดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน6,600 บาท โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นโดยออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน73,400 บาท มอบให้นายย่งไค่เพื่อนำไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 และเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 และเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ 80,000 บาท ไม่ลงวันที่รวม16 ฉบับให้นายย่งไค่นำไปมอบให้ลูกวงแชร์ที่ประมูลแชร์ไม่ได้โจทก์ได้รับมา 1 ฉบับ คือเช็คเอกสารหมาย จ.3 ต่อมานายย่งไค่หลบหนี แชร์จึงเลิกกัน โจทก์ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 ในเช็คเอกสารหมาย จ.3 แล้วนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เห็นว่า การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยที่ 1 และโจทก์ต่างเป็นลูกวงแชร์ต่างมีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและย่อมมีสิทธิในการเข้าประมูล ระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกัน หาใช่จะผูกพันเฉพาะระหว่างลูกวงแชร์กับนายวงแชร์ไม่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลแชร์ได้และรับเช็คจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกวงแชร์คนหนึ่งไป และเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยที่ 1จะอ้างว่าไม่มีความผูกพันกับโจทก์ไม่ได้ การที่นายวงแชร์หลบหนีอันมีผลทำให้สัญญาแชร์เลิกกัน ก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระหนี้ตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3พร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์