คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 84/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์แม้จำเลยที่1จะใช้อาคารพิพาทชั้นล่างเพื่อประโยชน์แห่งการค้าส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัยเมื่ออาคารพิพาทตั้งอยู่ริมถนนซึ่งปกติเป็นอาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์แห่งการค้าถือได้ว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมจึงเป็นอาคารพาณิชย์ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพาณิชย์พ.ศ.2522กำหนดให้บันไดสำหรับอาคารพาณิชย์ต้องกว้างไม่น้อยกว่า1.50เมตรฉะนั้นการลดความกว้างของบันไดจึงข้อต่อบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องกันเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทจำเลยที่1เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทโดยจำเลยที่2เป็นผู้ยินยอมให้ก่อสร้างจำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาทเมื่อผู้อำนวยการเขตได้มีคำสั่งให้จำเลยที่1แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามแบบแปลนและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่1ทราบย่อมถือได้ว่ามีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่2ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารทราบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2 การก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือขัดแต่ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้แล้วแต่กรณีดังนี้การที่ผู้อำนวยการเขตได้มีคำสั่งให้จำเลยที่1ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องเกี่ยวกับระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและระยะช่วงเสาอาคารด้านหลังได้มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้วแต่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งทั้งมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จึงร้องขอต่อศาลให้บังคับให้รื้อถอนได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา43วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวมที่ดินโฉนดที่ 2373 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเป็นตึก4 ชั้น 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์ โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นคือ สร้างบันไดอาคารมีความกว้าง 1 เมตร ทั้งสี่ชั้นน้อยกว่าตามแบบแปลนที่ต้องกว้าง 1.50 เมตร และระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและด้านหลัง สร้างให้มีความกว้างมากว่าที่ได้รับอนุญาต พื้นที่ชั้นลอยชั้นล่างจำเลยสร้างให้มีความกว้างเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างอาคารส่วนที่ผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่จำเลยมิได้ระงับการก่อสร้าง และมิได้แก้ไขส่วนที่ผิดแบบแปลนให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารส่วนที่ผิดแบบแปลนขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างผิดจากแบบแปลนออกเสีย
จำเลยทั้งสองให้การว่า รายการที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนเป็นเรื่องที่ขออนุญาตสร้างได้มิใช่ข้อสาระสำคัญสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนได้ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ขออนุญาตหรือก่อสร้างอาคารพิพาท และโจทก์ไม่เคยแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารพิพาทให้ถูกต้องตามแบบแปลน คือบันไดอาคารให้มีความกว้าง 1.50 เมตร ทั้งสี่ชั้น ระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าให้มีความกว้าง 2.40 เมตร เท่ากันทั้งสี่ชั้นระยะช่วงเสาอาคารด้านหลังให้มีความกว้าง 2.48 เมตรเท่ากันทั้งสี่ชั้น พื้นชั้นลอยชั้นล่างกว้างไม่เกิน 3.50 เมตรยาว 6.48 เมตร และต้องมีพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของพื้นที่อาคารชั้นล่าง และระยะทางเดินด้านหลังอาคารต้องเว้นระยะทางเดินด้านหลังอาคารไว้ 3 เมตร หากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในหกเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่สร้างผิดจากแบบแปลน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยรื้อถอนการก่อสร้างทางเดินด้านหลังอาคารพิพาทการก่อสร้างระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและด้านหลัง
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสำเนาคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารจำเลยที่ 1 ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชย์แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะใช้อาคารพิพาทชั้นล่างเพื่อประโยชน์แห่งการค้า ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัยแต่อาคารพิพาทตั้งอยู่ริมถนนวรจักร ปกติเป็นอาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์แห่งการค้า ถือได้ว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมจึงเป็นอาคารพาณิชย์ เมื่อเป็นอาคารพาณิชย์แล้วตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 41 กำหนดไว้ว่า บันไดสำหรับอาคารพาณิชย์ต้องทำขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ฉะนั้นการลดความกว้างของบันไดลงจึงขัดต่อข้อบัญญัติดังกล่าว
ปัญหาที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องกัน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินที่ก่อสร้างอาคารพิพาทการที่จำเลยที่ 1 ขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาท จำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยินยอมให้ก่อสร้างได้ ตามสำเนาหนังสือรับรองให้ปลูกสร้างอาคารในที่ดินจำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารพิพาท ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามแบบแปลนและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยวิธีปิดประกาศที่อาคารก่อสร้างแล้วย่อมถือได้ว่ามีคำสั่งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันในที่ดินและอาคารทราบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงภายในกำหนดเวลาที่โจทก์กำหนดและล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยทั้งสองจะขออนุญาตได้ทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามกฎหมายจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยื่นคำขออนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ตรงตามความเป็นจริงที่ก่อสร้างได้นั้น เห็นว่ากรณีของจำเลยทั้งสองนี้ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งบัญญํติว่าการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งไม่ขัดต่อกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือขัดแต่ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือสั่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า ทางเดินด้านหลังอาคารพิพาทจำเลยทั้งสองขอแก้ไขแบบแปลนให้ตรงตามความเป็นจริงได้ส่วนระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและระยะช่วงเสาอาคารด้านหลังฟังได้แต่เพียงว่าสร้างผิดแบบแปลนแต่ไม่ผิดข้อบังคับหรือข้อกฎหมายใด ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญจึงย่อมแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ตรงตามความจริงที่ก่อสร้างได้นั้นเห็นว่าตามที่ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องไม่ปรากฏว่าได้สั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องเกี่ยวกับทางเดินด้านหลังอาคารพิพาท ซึ่งโจทก์ชอบที่จะมีคำสั่งดังกล่าวเสียก่อนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นส่วนระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้าและระยะช่วงเสาอาคารด้านหลังนั้นได้มีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างแล้ว แต่จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งมิได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวแล้วต้องบังคับตามมาตรา 43 วรรคท้ายที่ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนได้
พิพากษาแก้เป็นว่า การก่อสร้างระยะช่วงเสาอาคารด้านหน้า และระยะช่วงเสาอาคารด้านหลังนั้นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share