แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทตามฟ้องหรือไม่อย่างไร จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรอง เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองถือไม่ได้ว่าเป็นคำให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เพราะเหตุไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องหรือไม่แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ชาวบ้านซึ่งรวมถึงผู้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ใช้ซอยพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกโดยเจตนาให้ซอยพิพาทเป็นทางภารจำยอม และระยะเวลาที่ใช้รวมกันมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ทางภารจำยอมในส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยมีความกว้าง3 เมตร และจำเลยได้สร้างรั้วปิดกั้นทางภารจำยอมส่วนนี้การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าทางภารจำยอมตามแผนที่ท้ายฟ้องกว้าง 6 เมตร มีความยาวเท่ากับความยาวของที่ดินตามโฉนดของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินของจำเลยตกอยู่เป็นทางภารจำยอมกว้างเท่าใด เพราะตามแผนที่ท้ายฟ้องระบุว่าทางภารจำยอมอยู่ในที่ดินของจำเลยกว้าง 3 เมตรและอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กว้าง 3 เมตรอันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้อง ศาลฎีกาจึงแก้ในส่วนนี้ให้ชัดเจน ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ทั้งแปด โจทก์ที่ 5 มิได้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ที่ 5 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1827/2532 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งแปดฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ตามโฉนดเลขที่ 111945เนื้อที่ประมาณ 25 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 43280 เนื้อที่ประมาณ25 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 111960 เนื้อที่ประมาณ 25 ตารางวาตามโฉนดเลขที่ 202900 เนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวาตามโฉนดเลขที่ 20391 เนื้อที่ประมาณ 1 งาน 13 ตารางวาและตามโฉนดเลขที่ 174681 เนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวา ตามลำดับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20387เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 2 ตารางวา จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 37406 และ 43278เนื้อที่ 41 และ 50 ตารางวา ตามลำดับ ที่ดินของโจทก์ทั้งแปดและจำเลยทั้งสามอยู่ที่ซอยโรงถ่านหรือท่าเรือ แยกจากซอยวัดด่านสำโรง ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ)อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการมีทางเข้าสู่ซอยโรงถ่าน กว้าง 6 เมตร ที่ดินของจำเลยทั้งสามตั้งอยู่ปากซอยโจทก์ต้องผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามออกสู่ถนนซอยวัดด่านสำโรง เป็นเวลาติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปีทางดังกล่าวจึงเป็นภารจำยอม จำเลยที่ 1 ได้สร้างรั้วปิดกั้นทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำบ้านและรั้วปิดกั้นทางดังกล่าว โจทก์ได้รับความเสียหาย ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามเปิดทางภารจำยอม จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปิดกั้นนั้นเสียและเปิดทางภารจำยอมมีความกว้าง 6 เมตร ความยาวตลอดที่ดินของจำเลยทั้งสามและจดทะเบียนภารจำยอมแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมไปจดทะเบียน ขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่กล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรองโดยเฉพาะโจทก์ที่ 5 ไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตามสำเนาโฉนดเอกสารท้ายฟ้อง และจำเลยที่ 1 ไม่มีทางเข้าสู่ซอยโรงถ่านหรือท่าเรือ การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่เคยทำทางกว้าง 6 เมตรผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากนายสุหัสน์ คุณจักร เนื้อที่ 2 งาน 2 ตารางวา ไม่มีผู้ใดใช้ที่ดินนี้เป็นทางเดินผ่าน โจทก์ดังกล่าวเพิ่งมาอยู่ในที่ดินของโจทก์แต่ละคนไม่ถึง 10 ปี จำเลยที่ 1 ทำรั้วล้อมที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอม โจทก์ดังกล่าวไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่เข้าใจสาระสำคัญของฟ้องไม่สามารถให้การแก้คดีได้ถูกต้องเนื่องจากฟ้องไม่ได้บรรยายว่าซอยโรงถ่านหรือท่าเรือเป็นซอยอะไร อยู่ตรงไหนผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ส่วนใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่เคยใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่ทางภารจำยอม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งแปดยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปิดกั้นเปิดทางภารจำยอมตามแผนที่ท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 10มีความกว้าง 6 เมตร มีความยาวเท่ากับความยาวของที่ดินตามโฉนดของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางภารจำยอมให้โจทก์ทั้งหมดหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 มีอำนาจฟ้องหรือไม่จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 111959 โจทก์ที่ 2 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 46215 โจทก์ที่ 3 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43279 โจทก์ที่ 4 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 43280 โจทก์ที่ 6 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 202900 โจทก์ที่ 7 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20391 โจทก์ที่ 8 จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 174681 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ)อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการหรือไม่อย่างไร จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรองนั้น เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าเป็นคำให้การปฏิเสธว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องจึงไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6ถึงที่ 8 เพราะเหตุไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องหรือไม่แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ชาวบ้านซึ่งรวมถึงผู้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6ถึงที่ 8 กับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ใช้ซอยพิพาทเป็นทางเข้าออกโดยเจตนาให้ซอยพิพาทเป็นทางภารจำยอมและระยะเวลาที่ใช้รวมกันมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินของจำเลยที่ 1จึงตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทางภารจำยอมมีความกว้างเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า ทางภารจำยอมในส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 มีความกว้าง 3 เมตร และจำเลยที่ 1 ได้สร้างรั้วปิดกั้นทางภารจำยอมส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าทางภารจำยอมตามแผนที่ท้ายฟ้องมีความกว้าง 6 เมตรมีความยาวเท่ากับความยาวของที่ดินตามโฉนดของจำเลยที่ 1 นั้นไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ตกอยู่เป็นทางภารจำยอมกว้างเท่าใดเพราะตามแผนที่ท้ายฟ้องระบุว่าทางภารจำยอมอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 กว้าง 3 เมตร และอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 2และที่ 3 กว้าง 3 เมตร อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้อง ศาลฎีกาจึงแก้ในส่วนนี้ให้ชัดเจนตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ทั้งแปด โจทก์ที่ 5มิได้อุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์ที่ 5 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยจึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสิ่งปิดกั้นเปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 20387 ตำบลสำโรงเหนือ(สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ ของจำเลยที่ 1 มีความกว้าง 3 เมตรมีความยาวเท่ากับความยาวของที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนทางภารจำยอมให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1