คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แต่ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ซึ่งเป็นผู้ประกันตน และในขณะนั้นก่อนมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นเวลาก่อนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ สิทธิของโจทก์ที่ขอจะรับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงสมบูรณ์ก่อนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณี ส. ผู้ประกันตนจึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอศาลเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ 977-978/2548 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ปฏิเสธการจ่ายบำเหน็จชราภาพและให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ 977-978/2548 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์และนางสาวนันตพร ให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของนายสานิตรแก่โจทก์และนางสาวนันตพรในฐานะทายาทชั้นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่ากรณีที่ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้ประโยชน์ทดแทน บุตรที่จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์และนางสาวนันตพรมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนในขณะถึงแก่ความตาย แม้ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนก็เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์และนางสาวนันตพรจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสองได้บัญญัติถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพไว้โดยเฉพาะ โดยหากเป็นบุตรของผู้ประกันตนก็จะต้องมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 และมาตรา 1557 บัญญัติให้เด็กเกิดจากมารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลนับแต่วันสมรส หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลนับแต่วันจดทะเบียน หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก็จะนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนี้ แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โจทก์จะยังไม่มีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสานิตหรือสานิตย์ หรือสานิตรที่จะเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แต่ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์และนางสาวนันตพร เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสานิตหรือสานิตย์หรือสานิตร ซึ่งเป็นผู้ประกันตนและในขณะนั้นก่อนมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด คือนับแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 อันเป็นเวลาก่อนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใด ที่ไม่พอใจคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 อันเป็นกระบวนพิจารณาชั้นเจ้าพนักงานที่ยังไม่เป็นที่สุด สิทธิของโจทก์ที่จะขอรับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงสมบูรณ์ก่อนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์จะต้องพิจารณาแก้ไขคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โดยให้โจทก์แก้ในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายต่อไป ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์ปฏิเสธสิทธิของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ 977-978/2548 ของคณะกรรมการอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายบำเหน็จชราภาพแก่โจทก์และนางสาวนันตพรจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share