แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์คัดคำเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ ขณะที่การสืบพยานฝ่ายโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้น โดยไม่ปรากฏว่า มีพฤติการณ์พิเศษอย่างใดนั้นเป็นการไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 54(2) แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้เป็นการเด็ดขาดมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความ ของพยานที่นำมาสืบในภายหลัง และในบางกรณีกฎหมายก็ยัง ให้เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะรับฟังคำเบิกความของพยาน ที่เบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้วได้ หากศาลเห็นว่า คำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้ เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่ สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 114 ดังนั้น ศาลจึง รับฟังคำพยานโจทก์ที่มาเบิกความหลังจากที่โจทก์คัดคำเบิกความพยานฝ่ายโจทก์แล้วได้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามแผนที่เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารโต้แย้งคัดค้านในการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินมาเป็นเวลา 10 ปีจึงได้สิทธิครอบครองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามแผนที่เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5 เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องโต้แย้งคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์คัดคำเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังสืบพยานฝ่ายโจทก์ไม่เสร็จสิ้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้จำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ศาลไม่ควรรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ที่เข้าเบิกความภายหลังนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 54(2) บัญญัติว่า”ห้ามมิให้อนุญาตให้คู่ความคัดถ้อยคำพยานฝ่ายตนจนกว่าจะได้สืบพยานฝ่ายตนเสร็จสิ้นแล้ว เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษที่จะให้อนุญาต” จากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เฉพาะกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษเท่านั้นศาลจึงจะอนุญาตให้คู่ความคัดคำพยานฝ่ายตนได้ก่อนสืบพยานฝ่ายตนเสร็จสิ้นฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตไปในกรณีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่แม้กระนั้นก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติห้ามไว้เป็นการเด็ดขาดมิให้ศาลรับฟังคำเบิกความของพยานที่นำมาสืบในภายหลัง และในบางกรณีที่ยิ่งไปกว่านี้กฎหมายก็ยังปล่อยให้เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะรับฟังคำพยาน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 114 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคำพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้วและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่า ศาลไม่ควรฟังคำเบิกความเช่นว่านี้เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่า คำเบิกความเช่นว่านี้เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคำเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคำเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้แสดงว่า ศาลสามารถรับฟังคำพยานเช่นว่านั้นได้ และกรณีตามฎีกาของจำเลยศาลก็รับฟังคำพยานโจทก์ปากนางบุญเจิดหรือบรรเจิดประกอบพยานอื่นได้เช่นกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน