คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 ระบุข้อความว่า “…ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ ว. ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกต่อไป…” คำว่าผู้เกี่ยวข้องอื่น นั้น มีความหมายได้ว่า อาจเป็นตัวการร่วมกันหรือเป็นผู้จ้างวาน ใช้หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ที่พยานโจทก์เบิกความว่า กรณีเป็นการถอนคำร้องทุกข์เฉพาะสำหรับ ว. ซึ่งเป็นเยาวชนเท่านั้น จึงขัดกับข้อความในบันทึกถอนการร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติดังกล่าว การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 30, 31, 61, 70, 75, 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6, 34 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 3, 4, 54, 82, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (แผ่นดีวีดีเกม และแผ่นวีซีดีเกม) ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 47 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54, 82 ประกอบพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6, 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าให้ลงโทษปรับ 52,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษปรับ 4,000 บาท รวมปรับ 56,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า คดีนี้ในส่วนของการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าอันเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น ระงับไปเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสามถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาดังกล่าวหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ได้ความจากนางวันเพ็ญ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายทั้งสามว่า ในชั้นสอบสวนนายวีระวัฒน์ยืนยันว่าจำเลยเป็นเจ้าของร้านที่เกิดเหตุ และเนื่องจากนายวีระวัฒน์อายุยังไม่ถึง 18 ปี ผู้เสียหายทั้งสามจึงมอบอำนาจให้นางวันเพ็ญถอนคำร้องทุกข์ได้ โดยพันตำรวจตรีปรีชา พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า ชั้นสอบสวนนายวีระวัฒน์ให้การรับสารภาพ และบอกว่าจำเลยเป็นเจ้าของร้าน ต่อมานางวันเพ็ญยื่นขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีกับนายวีระวัฒน์ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มีการถอนคำร้องทุกข์แล้ว ส่วนปัญหาว่า การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวจะมีผลให้คดีในส่วนความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ระงับไปหรือไม่ ปรากฏตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 มีใจความว่าตามที่ได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่านายวีระวัฒน์ได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งได้มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีไว้นั้น บัดนี้ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายวีระวัฒน์ ผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกต่อไป ผู้กล่าวหาจึงขอถอนคำร้องทุกข์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกต่อไป ส่วนของกลางในคดีอาญาดังกล่าว ผู้ต้องหายินยอมมอบให้ผู้กล่าวหาเพื่อจะได้นำไปทำลายต่อไป โดยมีนางวันเพ็ญลงชื่อในช่องผู้กล่าวหาหรือผู้ถอนคำร้องทุกข์ ดังนี้ ตามบันทึกดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายทั้งสามได้มอบอำนาจให้นางวันเพ็ญไปดำเนินการถอนคำร้องทุกข์โดยไม่ดำเนินคดีกับนายวีระวัฒน์และผู้เกี่ยวข้องอื่น ซึ่งคำว่า ผู้เกี่ยวข้องอื่นนั้น มีความหมายได้ว่า อาจเป็นตัวการร่วมกันหรือเป็นผู้จ้างวานใช้หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ที่นางวันเพ็ญและพันตำรวจตรีปรีชาพนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า กรณีเป็นการถอนคำร้องทุกข์เฉพาะสำหรับนายวีระวัฒน์ซึ่งเป็นเยาวชนเท่านั้น จึงขัดกับข้อความในบันทึกถอนการร้องทุกข์ดังกล่าว คำเบิกความของนางวันเพ็ญและพันตำรวจตรีปรีชาย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 66 การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามนัยแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาฟ้องต่อศาล ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ตาม จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6, 34 ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โดยปรับไม่เกินขั้นสูงตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 คือปรับไม่เกิน 20,000 บาท เท่านั้น ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้ 4,000 บาท ข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า พยานหลักฐานในคดีนี้แสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าตามมาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ยกคำขอให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (แผ่นดีวีดีเกม และแผ่นวีซีดีเกม) จำนวน 47 แผ่น ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งคำขอให้สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม และให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (แผ่นดีวีดีเกม และแผ่นวีซีดีเกม) ที่ไม่มีผู้เสียหายยืนยันลิขสิทธิ์จำนวน 505 แผ่น ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share