คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6288-6383/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยมีคำสั่งให้ลูกจ้างรวมถึงโจทก์ทั้งเก้าสิบหกหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ไม่มาทำงานร้อยละห้าสิบของค่าจ้างปกติ ต่อมาตัวแทนโจทก์ทั้งเก้าสิบหกได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการออกคำสั่งดังกล่าวต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนแก่โจทก์ลูกจ้างที่ให้หยุดงานชั่วคราว จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง แต่จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน แต่การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยผู้เป็นนายจ้างหาชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ไม่ เนื่องจากตามบทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้นายจ้างซึ่งไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน เมื่อจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม ทั้งมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 3 กรณีดังกล่าวจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งเก้าสิบหกสำนวนนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 7760/2543, 7782/2543, 7785/2543 และ 7786/2543 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 100 ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 66 ที่ 88 ที่ 91 และที่ 92 ในคดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีจากสารบบความ จึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งเก้าสิบหกสำนวนนี้
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 65 ที่ 67 ถึงที่ 87 ที่ 89 ถึงที่ 90 และที่ 93 ถึงที่ 100 รวมเก้าสิบหกสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเก้าสิบหกอีกคนละร้อยละ 50 สำหรับปี 2541, 2542 และ 2543 ตามบัญชีหน้าคำฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 วันที่ 1 มกราคม 2543 และวันที่ 1 มกราคม 2544 ตามลำดับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเก้าสิบหกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 65 ที่ 67 ถึงที่ 87 ที่ 89 ถึงที่ 90 และที่ 93 ถึงที่ 100 ตามบัญชีรายชื่อท้ายคำพิพากษา พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งเก้าสิบหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีทั้งเก้าสิบหกสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ โจทก์ทั้งเก้าสิบหกเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในฝ่ายผลิต จำเลยมีคำสั่งให้ลูกจ้างในฝ่ายผลิตซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งเก้าสิบหกหยุดงานโดยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ไม่มาทำงานร้อยละห้าสิบของค่าจ้างปกติ เมื่อเดือนกันยายน 2542 ตัวแทนโจทก์ทั้งเก้าสิบหกได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการออกคำสั่งให้ลูกจ้างในฝ่ายผลิตหยุดทำงานโดยจ่ายค่าจ้างร้อยละห้าสิบต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 7/2542 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเก้าสิบหกเต็มจำนวนที่หยุดงานชั่วคราว จำเลยทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วไม่ได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง แต่จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมทุรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ (จำเลย) ฟังขึ้น จึงไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าหลังจากพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 7/2542 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนแก่ลูกจ้างที่ให้หยุดงานชั่วคราว แม้จำเลยได้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยผู้เป็นนายจ้างหาชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ เนื่องจากตามบทบัญญัติข้างต้นได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยเฉพาะสำหรับนายจ้างซึ่งไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยจะต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน ดังจะเห็นได้ว่าสำหรับนายจ้างผู้เป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาลแรงงานยังจะต้องวางเงินต่อศาลแรงงานตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้นด้วย เมื่อจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานกลางเพื่อฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติข้างต้น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม ทั้งมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 3 กรณีดังกล่าว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 จำเลยจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งเก้าสิบหกดังที่ปรากฏในบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างร้อยละห้าสิบตลอดระยะเวลาในการหยุดงานนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ดังที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.

Share