คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างจะต้องกระทำการใด ๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้จึงจะเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง
โจทก์ทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างสามฉบับ การทำงานตามสัญญาจ้างทั้งสามฉบับมีระยะเวลาติดต่อกัน ครั้นถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2542 ก่อนสัญญาจ้างฉบับที่ 3 ครบกำหนด โจทก์เรียกให้ลูกจ้างไปทำสัญญาจ้างฉบับที่ 4 มีกำหนดระยะเวลาการจ้างต่อจากสัญญาจ้างฉบับที่ 3 ไปอีก 2 ปี โจทก์ประสงค์จะจ้างลูกจ้างให้ทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปในอัตราค่าจ้างเดิม แต่ อ. ลูกจ้างเสนอขอเงินเดือนเพิ่มและไม่ลงชื่อตอบรับการจ้างตามสัญญาจ้างฉบับที่ 4 โจทก์เห็นว่าค่าจ้างของลูกจ้างเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว จึงไม่ตกลงเพิ่มเงินเดือนให้ตามที่ลูกจ้างต้องการ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ตามสภาวะเศรษฐกิจโจทก์ไม่สามารถจะเพิ่มค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ทำสัญญาจ้างฉบับที่ 4 กับโจทก์จนสัญญาจ้างฉบับที่ 3 สิ้นสุดลง ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวเพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปเพราะโจทก์มิได้ลดเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานต่อไปในอัตราเงินเดือนเดิม แต่ลูกจ้างเป็นฝ่ายที่ไม่ไปทำงานกับโจทก์เองหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้าง โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ อ. ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 23/2543 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2543
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มิได้เกี่ยวข้องกับคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องกระทำการใด ๆ เพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้จึงจะเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติได้ความว่า โจทก์จ้างนายเอิร์ลลูกจ้างเข้าทำงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพเกี่ยวกับงานซ่อมเรือและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 37,500 บาท โจทก์ทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างสามฉบับ การทำงานตามสัญญาจ้างทั้งสามฉบับมีระยะเวลาติดต่อกัน โดยฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2536 และฉบับที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2540 ถึง วันที่ 14 มกราคม 2543 ครั้นถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2542 ก่อนสัญญาจ้างฉบับที่ 3 ครบกำหนด โจทก์เรียกลูกจ้างไปทำสัญญาจ้างฉบับที่ 4 มีกำหนดระยะเวลาการจ้างต่อจากสัญญาจ้างฉบับที่ 3 ไปอีก 2 ปี โจทก์ประสงค์จะจ้างลูกจ้างให้ทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปในอัตราค่าจ้างเท่าเดิม แต่ลูกจ้างเสนอขอเงินเดือนเพิ่มเป็นเดือนละ 57,000 บาท และยังไม่ลงชื่อตอบรับการจ้างตามสัญญาจ้างฉบับที่ 4 โจทก์พิจารณาเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันค่าจ้างของลูกจ้างเดือนละ 37,500 บาท เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว ไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนให้ตามที่ลูกจ้างต้องการได้ จึงไม่ตกลงเพิ่มเงินเดือนให้ตามที่ลูกจ้างต้องการ แต่โจทก์ประสงค์ให้ลูกจ้างทำงานต่อในอัตราเงินเดือนเดิม เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างฉบับที่ 3 ในวันที่ 14 มกราคม 2543 ลูกจ้างก็ไม่ได้ไปทำงานที่อู่ซ่อมเรือของโจทก์อีก โจทก์ไม่เคยบอกเลิกจ้างลูกจ้างไม่ว่าด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ลูกจ้างไม่ได้ไปทำงานเองหลังจากที่สิ้นสุดสัญญาจ้างฉบับที่ 3 แล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์หาได้กระทำการใด ๆ เพื่อมิให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ไม่ตกลงเพิ่มเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามความประสงค์ของลูกจ้างเนื่องจากพิจารณาเห็นว่าตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันโจทก์ไม่สามารถจะเพิ่มค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ทำสัญญาจ้างฉบับที่ 4 กับโจทก์จนสัญญาจ้างฉบับที่ 3 สิ้นสุดลง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวเพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป เพราะโจทก์มิได้ลดเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานต่อไปในอัตราเงินเดือนเดิม แต่ลูกจ้างกลับเป็นฝ่ายที่ไม่มาทำงานกับโจทก์เองหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นายเอิร์ลลูกจ้างตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน 23/2543 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2543

Share