แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า CHARLIE อ่านว่า “ชา-ลี” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้คำว่า ROYAL CHARLE อ่านว่า “รอ-ยอล-ชาร์ล” โดยวางคำว่า ROYAL และ CHARLE อยู่คนละบรรทัดกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงมีเสียงเรียกขานต่างกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าจากต่างประเทศและวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ มีราคาอย่างต่ำขวดละ 200 บาท ในขณะที่สินค้าของจำเลยมีราคาเพียง 15 ถึง 19 บาทเท่านั้น จึงสามารถสังเกตถึงความแตกต่างดังกล่าวได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนหรือหลงผิดระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย เครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลยจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และโจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 301090 ทะเบียนเลขที่ ค 52570 ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ตามคำขอเลขที่ ค 1778 ของโจทก์ และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 301090 ทะเบียนเลขที่ ค 52570 ของจำเลยออกจากทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างเทศวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า CHARLIE ตามทะเบียนเลขที่ ค 1778 ใช้คำว่า CHARLIE เพียงคำเดียวที่ประกอบด้วยอักษรโรมัน 7 ตัว แต่ก็เป็นคำ 2 พยางค์ และอ่านได้ว่า “ชาลี” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า ROYAL CHARLE ตามทะเบียนเลขที่ ค 52570 ประกอบด้วยคำ 2 คำ และโดยเฉพาะคำว่า CHARLE ซึ่งประกอบด้วยอักษรโรมัน 6 ตัว แต่เป็นคำเพียง 1 พยางค์ อ่านได้ว่า “ชาร์ล” ซึ่งแตกต่างกับของโจทก์ ทั้งในเครื่องหมายการค้าของจำเลยยังเพิ่มคำว่า ROYAL โดยมีการวางรูปเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่คำว่า ROYAL กับคำว่า CHARLE อยู่คนละบรรทัดกัน และการเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า “ชาร์ลี” แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเรียกขานว่า “รอยอล ชาร์ล” เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยจึงมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าต่างประเทศที่ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นคำภาษาต่างประเทศ วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำ และเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าเช่นนี้ย่อมมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้ออยู่แล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างกับของโจทก์ดังกล่าวมาข้างต้นเช่นนี้ ผู้ซื้อที่พิถีพิถันเลือกซื้อสินค้าย่อมสามารถสังเกตถึงความแตกต่างดังกล่าวได้โดยง่ายและยากที่จะสับสนหรือหลงผิดระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย ดังนั้น จึงเห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ตามทะเบียนเลขที่ ค 52570 ของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHARLIE ของโจทก์ ตามทะเบียนเลขที่ ค 1778 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยย่อมไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยชอบแล้ว โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าคำว่า ROYAL CHARLE ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ จึงไม่มีเหตุให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลย.