คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3985/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ขับรถสามล้อเครื่องพาจำเลยที่ 1 มายังที่เกิดเหตุขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังลักทรัพย์ในร้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จอดรถอยู่บริเวณหน้าร้านผู้เสียหายห่างประมาณ 6-7 เมตรและนั่งอยู่เฉย ๆ ข้างรถสามล้อเครื่อง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเอาทรัพย์ผู้เสียหายไป มิได้คอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1หรือให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่จำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เพียงแต่รอคอยอยู่เพื่อจะขับรถพาจำเลยที่ 1 ออกไปจากที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1ก่อนและขณะกระทำผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
จำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถสามล้อเครื่องมาส่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ผู้เสียหาย ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถสามล้อเครื่องดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ พาทรัพย์ไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิคงมีความผิดตามมาตรา 335 วรรคสามเท่านั้น และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีร่วมกันลักทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถสามล้อเครื่องสาธารณะเป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ ๑ เคยต้องโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์และพ้นโทษมายังไม่เกิน ๓ ปี ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ, ๘๓, ๙๓ ที่แก้ไขแล้ว เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมาย ริบไขควง กระบอกไฟฉายและลูกกุญแจของกลาง คืนรถสามล้อเครื่องสาธารณะและกุญแจที่ตัดแก่เจ้าของ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสอง, ๓๓๖ ทวิ, ๘๓ จำคุกคนละ ๗ ปี ๖ เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก ๑๑ ปี ๓ เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ๗ ปี ๖ เดือน ริบไฟฉายของกลาง ไขควง ลูกกุญแจ รถสามล้อเครื่องสาธารณะและกุญแจที่ถูกตัดของกลางให้คืนเจ้าของ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๓,๓๒๕ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสอง, ๓๓๖ ทวิ, ๘๖ จำคุก ๕ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ขับรถสามล้อเครื่องพาจำเลยที่ ๑มายังที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ ๑ เข้าไปลักทรัพย์ในร้านของผู้เสียหาย คดีคงได้ความเพียงว่า ขณะที่จำเลยที่ ๑ กำลังลักทรัพย์อยู่ในร้านผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ ๒ จอดรถอยู่บริเวณหน้าร้านผู้เสียหายห่างประมาณ ๖ – ๗ เมตรและนั่งอยู่เฉยๆ ที่ข้างรถสามล้อเครื่องมิได้มีส่วนเข้าเกี่ยวข้องในการเอาทรัพย์ผู้เสียหายไป มิได้มีลักษณะเป็นการคอยดูต้นทางให้จำเลยที่ ๑หรือให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่จำเลยที่ ๑ ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ ๒ รอคอยอยู่เพื่อจะขับรถพาจำเลยที่ ๑ ออกไปจากที่เกิดเหตุ ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ จำเลยที่ ๑ ก่อนและขณะกระทำผิด การกระทำของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑กระทำความผิดตามฟ้องแต่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ และเมื่อจำเลยที่ ๒ เพียงแต่ขับรถสามล้อเครื่องมาส่งจำเลยที่ ๑ อันเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ ๑ ไปลักทรัพย์ผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ลักทรัพย์ผู้เสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ใช้รถสามล้อเครื่องดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ พาทรัพย์ไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๖ ทวิ คงมีความผิดตามมาตรา ๓๓๕ วรรคสามเท่านั้น และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕ วรรคสาม จำคุก ๕ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๕ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ วรรคสาม, ๘๖ จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share