คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดย ส. ได้ซื้อเครื่องกำจัดน้ำเสียกับพลาสติกมีเดียจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบสินค้าตามที่สั่งซื้อครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าสินค้าไม่ครบ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าสินค้าที่ยังค้างชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ได้แนบสำเนาใบส่งของและสำเนาหนังสือแจ้งยอดเงินค้างชำระไว้ท้ายฟ้องด้วย ซึ่งตามสำเนาเอกสารดังกล่าวปรากฏรายการสินค้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และราคาสินค้าทั้งหมดรวมทั้งรายการชำระเงินค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อหักกลบลบกันแล้วคงเหลือยอดเงินที่ค้างชำระตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นคำฟ้องที่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172แล้ว โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า มีการซื้อขายกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใด เป็นเงินเท่าใด ชำระแล้วเมื่อใด ค้างชำระการซื้อขายครั้งใดเท่าใด เพราะรายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องที่อาจนำสืบพยานกันได้ในชั้นพิจารณา การซื้อขายทรัพย์ที่มีราคาเกินกว่าห้าร้อยบาทแม้จะมิได้มีการทำสัญญาหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือได้วางประจำไว้แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการซื้อขายดังกล่าวได้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้กันไว้และโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาบ้างแล้ว จึงถือว่าการซื้อขายรายนี้ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องร้องขอให้บังคับคดีได้ตามความในมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้ ส. ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 การที่ ส.ลงลายมือชื่อในเอกสารซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1โดยนายสมนึก ผดุงเกติ ได้ติดต่อซื้อพลาสติกมีเดีย และเครื่องจ่ายน้ำเสียจากโจทก์ เพื่อนำไปสร้างบ่อกำจัดน้ำเสียที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จำเลยที่ 1 ประมูลได้งานมา โจทก์ได้ส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าสินค้าไม่ครบถ้วนยังค้างชำระอยู่อีก 443,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเคยฟ้องนางศศิธร ผดุงเกติ ให้ชำระราคาสินค้าแล้วจำนวน 310,000 บาทอีกทั้งการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ในราคาเกินกว่า 500 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้จำนวน 310,000 บาทอีกฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยซื้อสินค้าอะไรจำนวนเท่าใดและราคาเท่าใด และขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 133,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 เมษายน 2527ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกที่จะวินิจฉัยมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยนายสมนึก ผดุงเกติ ได้ซื้อเครื่องกำจัดน้ำเสียกับพลาสติกมีเดียจากโจทก์โจทก์ส่งมอบสินค้าตามที่สั่งซื้อครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าสินค้าไม่ครบ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินค้าที่ยังค้างชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ได้แนบสำเนาใบส่งของและสำเนาหนังสือแจ้งยอดเงินค้างชำระไว้ท้ายฟ้องด้วย ซึ่งตามสำเนาเอกสารดังกล่าวก็ปรากฏรายการสินค้าที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และราคาสินค้าทั้งหมดรวมทั้งรายการชำระเงินค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเมื่อหักกลบลบกันแล้วคงเหลือยอดเงินที่ค้างชำระตามที่โจทก์ฟ้องดังนี้เห็นว่า คำฟ้องคดีนี้ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า มีการซื้อขายกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดเป็นเงินเท่าใดชำระแล้วเมื่อใด ค้างชำระการซื้อขายครั้งใดเท่าใดไม่เพราะรายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องที่อาจนำสืบพยานกันได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์เคยฟ้องเรียกหนี้ที่มีมูลหนี้รายเดียวกันนี้ทั้งการซื้อขายรายนี้โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น เห็นว่าสำหรับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระในคดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่านางศศิธร ผดุงเกติ ภรรยาของนายสมนึก ผดุงเกติ เคยออกเช็คชำระหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในคดีนี้บางส่วน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจึงถูกฟ้องให้รับผิดชำระเงินตามเช็คแม้ศาลจะพิพากษาให้นางศศิธร ผดุงเกติ ชำระเงินตามเช็ค แต่คดีดังกล่าวก็ยังอยู่ในระหว่างการบังคับคดีโดยไม่ปรากฏว่าได้มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด อีกทั้งจำนวนเงินตามเช็คก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวนหนี้ในคดีนี้เท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในคดีนี้ และแม้ว่าการซื้อขายรายนี้จะมีราคาเกินกว่าห้าร้อยบาทโดยมิได้มีการทำสัญญาหรือทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือได้วางประจำไว้แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่าการซื้อขายรายนี้ได้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้กันไว้และโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ได้ชำระราคาบ้างแล้ว จึงถือว่าการซื้อขายรายนี้ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องร้องขอให้บังคับคดีได้ตามความในมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์และคดีขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะได้ชำระราคาสินค้าครบถ้วนแล้ว และการกระทำของนายสมนึก ผดุงเกติ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าการซื้อขายสินค้ารายนี้มีมูลค่าถึงหนึ่งล้านบาทเศษ เมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ก็มีใบส่งของตามเอกสารหมายจ.6 (รวม 4 แผ่น) มาแสดงเป็นหลักฐาน ดังนั้น หากจำเลยที่ 1ชำระเงินค่าสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 ก็น่าจะขอให้โจทก์ออกใบรับเงินหรือทำหลักฐานอย่างอื่นที่อาจนำมาแสดงเมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการชำระหนี้ได้ดังเช่นโจทก์เคยออกใบส่งของซึ่งมีบันทึกรายการรับเงินค่าสินค้าบางส่วนไว้ตามเอกสารหมาย ล.2หรือหากมีการโอนเงินทางโทรเลขหรือโทรศัพท์ผ่านธนาคารเพื่อชำระหนี้ก็ต้องมีหลักฐานการโอนเงินทางโทรเลขหรือโทรศัพท์ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 มาแสดง คดีนี้ นอกจากโจทก์จะมีเอกสารหมาย จ.6 คือ ใบส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ยังมีเอกสารหมาย จ.7 ที่มีรายการส่งสินค้าพร้อมด้วยราคาและรายการชำระเงินค่าสินค้าบางส่วน ซึ่งเมื่อหักกลบลบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อีก 443,000 บาท เอกสารหมาย จ.7นี้ นายสมนึก ผดุงเกติ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างและเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าย่อมจะทราบเรื่องราวดีก็ได้ลงชื่อรับรองไว้โดยมิได้โต้แย้ง จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าสินค้าโจทก์จริงตามฟ้อง และเอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพนี้ด้วยที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า นายสมนึก ผดุงเกติ ไม่ได้ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.7 นั้น ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองให้การว่านายสมนึก ผดุงเกติ ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นการส่วนตัวจึงเป็นการนำสืบต่างกับคำให้การ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนข้อต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าครบถ้วนแล้วซึ่งจำเลยทั้งสองมีเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.6 มาแสดงนั้น ปรากฏว่า เอกสารหมาย ล.1มีนายบูลย์สุข โฉมปรางค์ พนักงานของโจทก์ซึ่งติดต่อขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้รับเงินจำนวน 5,000 บาท ลอย ๆ โดยไม่ปรากฏข้อความว่าเป็นการชำระเงินค่าสินค้านายบูลย์สุข โฉมปรางค์ก็เบิกความอยู่ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องนายสมนึก ผดุงเกติชำระหนี้เงินยืมให้แก่พยานจึงไม่เกี่ยวกับหนี้สินในคดีนี้ สำหรับเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ได้รับเงินค่าสินค้าจำนวน200,000 บาท นั้น ก็ปรากฏว่าได้จัดทำขึ้นก่อนมีการคิดบัญชีแจ้งยอดหนี้เงินค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.7 จึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าหลักฐานการชำระเงินดังกล่าวโจทก์ได้นำไปหักกลบลบหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นหลังจากทำเอกสารหมาย จ.7 ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่า หลังจากทำเอกสารหมาย จ.7 แล้วจำเลยที่ 1 ก็ยังสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์อยู่อีกดังนั้น หากมีการโอนเงินชำระหนี้ค่าสินค้าจริง ก็น่าจะเป็นการชำระค่าสินค้าที่สั่งซื้อในภายหลังซึ่งไม่เกี่ยวกับหนี้สินที่ค้างชำระในคดีนี้เช่นกันพยานจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าสินค้านอกจากนี้ก็เป็นการนำสืบพยานบุคคลลอย ๆ โดยไม่มีเอกสารประกอบ จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 3 คน การที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้นายสมนึก ผดุงเกติ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไปเสนอประมูลราคาก่อสร้างงานปรับปรุงระบบประปาและการกำจัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อประมูลได้งานก็ลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างตามสัญญา เมื่อพนักงานของโจทก์ติดต่อกับนายสมนึก ผดุงเกติ และตกลงขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 แม้จะไม่ปรากฏว่านายสมนึก ผดุงเกติ มีอำนาจสั่งซื้อสินค้าแทนจำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้ จำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์มาบางส่วนแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เชิดให้นายสมนึก ผดุงเกติ ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821การที่นายสมนึก ผดุงเกติ ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.7ซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงซึ่งเมื่อนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 จนถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share