แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ ระบุให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตาม พระราชกฤษฎีกา แต่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ การแจ้งวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สิน หรือการแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การที่อธิบดีกรมโยธาธิการจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการไปต้องถือว่ากระทำการในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ได้กำหนดขั้นตอนการอุทธรณ์และการฟ้องคดีของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้แล้ว โดยผู้ที่ไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทน ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่งเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยก่อน หากผู้มีสิทธิได้รับเงิน ไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสองก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลง และกล่าวถึงที่ดินส่วนที่เหลือว่าใช้ประโยชน์ได้น้อยไม่ได้ราคาโดยไม่ได้กล่าวอ้างว่ามีราคาลดลงเท่าใดและจะขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่ จึงไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทน ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 305,671,695 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 254,538,997 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 130,868,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้า และให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งเก้าโดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้อีก 19,078,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้า ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2533 พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ซึ่งใช้บังคับในวันที่ 13 มิถุนายน 2533 เป็นผลให้ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าโฉนดเลขที่ 1080 ทั้งแปลง และที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 เนื้อที่ 913 ตารางวา ถูกเวนคืน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งเก้า เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 25,220,500 บาท โจทก์ทั้งเก้าไม่พอใจค่าทดแทนจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากโจทก์ทั้งเก้าฟ้องคดีแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1080 ตารางวาละ 18,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 1083 ตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทนเพิ่ม 17,091,500 บาท คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งเก้าหรือไม่ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลธรรมดาโดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการ แม้ตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2533 ระบุให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจหน้าที่ของกรมโยธาธิการจำเลยที่ 1 ดังจะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ทำในนามจำเลยที่ 1 การแจ้งการวางทรัพย์และขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สิน ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ก็แจ้งเป็นหนังสือออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ได้ดำเนินการไปต้องถือว่ากระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเก้าประการต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนซึ่งโจทก์ทั้งเก้าอ้างว่าราคาลงหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทน การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์และการฟ้องคดีของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไว้ โดยให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 เป็นผู้กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนก่อน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจในราคาอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนด ก็ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เป็นลำดับต่อมาเพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยแล้วจึงจะถึงขั้นตอนการฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง คือในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี ดังนั้นที่โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลง ค่าถนนซอยคอนกรีต โรงจอดรถยนต์ รั้วอิฐบล็อกและค่าต้นไม้ โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลงเท่าใด และจะขอค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือหรือไม่ อย่างไร คงกล่าวถึงที่ดินส่วนที่เหลือแต่เพียงว่า “ที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 327 ตารางวา ยังถูกกรุงเทพมหานครกันเป็นทางสาธารณประโยชน์ด้านริมคลองบางน้ำชนตลอดแนวห้ามปลูกสร้างอาคารในระยะประมาณ 5 ถึง 8 เมตร คาดว่าคงเหลือเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวาเศษ กลายเป็นที่ดินสี่เหลี่ยมคางหมู ย่อมใช้ประโยชน์ได้น้อยไม่ได้ราคาจึงดูเกือบจะสูญเสียที่ดินแปลงนี้ไปทั้งแปลง “จึงไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลง ซึ่งเป็นคนละส่วนคนละกรณีกันกับค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน เมื่อคณะกรรมการตามมาตรา 9 คือ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ทั้งเก้า และโจทก์ทั้งเก้าไม่ได้อุทธรณ์ในส่วนที่ดินที่เหลือดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่ข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งเก้าไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเฉพาะเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มอีก 44,788,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้าและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งเก้าโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.