คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1352/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำตักเตือนเป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมิให้กระทำผิดเช่นว่านั้นซ้ำอีก หากกระทำจะต้องถูกลงโทษ
ตามใบเตือนของจำเลยระบุแต่เพียงว่า โจทก์กระทำผิดมาทำงานสายเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น มิได้มีข้อความที่เป็นคำตักเตือนของนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดเช่นนั้นซ้ำอีก และหากกระทำผิดอีกต้องถูกลงโทษ ใบเตือนของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือนตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45,47(4) เพราะเหตุที่โจทก์กระทำผิดซ้ำ
โจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยมาทำงานสายหลายครั้ง และหลังจากจำเลยมีใบเตือนแล้ว โจทก์ก็ยังคงมาสายอยู่เป็น ประจำอีกทั้งยังกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย เรื่องอื่น ๆ อีก การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วย

ในวันพิจารณา โจทก์ได้แถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลแรงงานว่า ในการทำงานกับจำเลย โจทก์มาทำงานสายเป็นประจำและจำเลยได้มีหนังสือเตือนตามเอกสารท้ายคำให้การจริง อันเป็นการยอมรับว่าใบเตือน ดังกล่าวได้ออกโดยจำเลยแล้ว และศาลแรงงานก็ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มา ทำงานสายเป็นประจำอันเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือ การที่ โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงว่าใบเตือนดังกล่าวของจำเลยได้ออกโดยผู้มีอำนาจ หรือไม่ปรากฏ เป็นการออกใบเตือนโดยไม่ชอบ ย่อมเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินประกัน ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่นำเอายางรถยนต์ พร้อมกระทะล้อรวม 4 ชุด ของจำเลยขายและส่งมอบให้กับลูกค้าโดยทุจริต โดยไม่ได้รายงานผลการกระทำให้จำเลยทราบและมิได้ส่งมอบเงินที่ขายได้ให้กับจำเลยตามระเบียบของบริษัท แต่กลับนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดอาญาต่อจำเลยที่เป็นนายจ้าง และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ของโจทก์ นอกจากนี้โจทก์ได้มาปฏิบัติงานสาย อันเป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วปรากฏว่าโจทก์ยังได้มาทำงานสายอีก จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ส่วนเงินประกันจำนวน 1,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน เนื่องจากโจทก์ได้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์ของผู้อื่น ทำให้รถยนต์ของจำเลยได้รับความเสียหายต้องเสื่อมสภาพ และเสื่อมราคาคิดเป็นเงิน 15,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์นำยางรถยนต์พร้อมกระทะล้อรวม 4 ชุด ของจำเลยไปขายแก่ลูกค้านั้นเป็นเพียงการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเท่านั้น ฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ แต่โจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือจริง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และจำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45, 47 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 สำหรับเงินประกันการทำงานจำนวน 1,000 บาท จำเลยคิดหักจากการกระทำโดยประมาทของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้นเหมาะสมแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 1,666.50 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าใบเตือนตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่มีลักษณะเป็นการเตือน เพราะไม่มีเนื้อหาในทางตักเตือนไม่ให้กระทำผิดอีกและหากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษอย่างไร แต่เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านั้น เห็นว่า คำตักเตือนเป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) ไม่ได้กำหนดแบบไว้ว่าจะต้องมีรูปแบบและข้อความเป็นอย่างไร แต่หนังสือตักเตือนนั้นจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างมิให้กระทำผิดเช่นว่านั้นซ้ำอีก หากกระทำจะต้องถูกลงโทษแต่ตามใบเตือนตามเอกสารหมาย ล.3 ของจำเลยคงระบุแต่เพียงว่าโจทก์กระทำผิดมาทำงานสายเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยเท่านั้น มิได้มีข้อความที่เป็นคำตักเตือนของนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างกระทำผิดเช่นนั้นซ้ำอีก และหากกระทำผิดอีกต้องถูกลงโทษไว้ด้วยแต่อย่างใด ใบเตือนตามเอกสารหมาย ล.3 ของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตักเตือนตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45, 47(4) แต่การที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยมาทำงานสายหลายครั้งตามที่ปรากฏในบันทึกเอกสารหมาย ล.3 ของจำเลยและหลังจากนั้นก็ยังคงมาสายอยู่เป็นประจำอีก ทั้งยังกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเรื่องอื่น ๆ เช่นนี้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ และไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ที่โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ใบเตือนฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ออกและออกโดยมีอำนาจอย่างไรหรือไม่ ส่วนใบเตือนฉบับอื่น ๆ ออกโดยนายธวัชชัย ทีฆธนสุข ก็มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่านายธวัชชัย เป็นผู้ที่มีอำนาจออกใบเตือนดังกล่าว จึงเป็นการออกโดยมิชอบนั้น เห็นว่า ในวันพิจารณาโจทก์ได้แถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลแรงงานกลางว่า ในการทำงานกับจำเลยโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำและจำเลยได้มีหนังสือเตือนตามเอกสารท้ายคำให้การจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2541 อันเป็นการยอมรับว่าใบเตือนดังกล่าวได้ออกโดยจำเลย ซึ่งศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยว่าโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำอันเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือ นายสุรชาติจึงบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์จริง ฉะนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงว่า ใบเตือนดังกล่าวออกโดยผู้มีอำนาจหรือไม่ไม่ปรากฏจึงเป็นการออกใบเตือนโดยไม่ชอบนั้น จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 30,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีก 2 วัน เป็นเงิน 666.50 บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share