แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยไม่มาพบและส่งบัญชีเอกสารสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ตามหมายเรียกให้แก่เจ้าพนักงานตรวจสอบ ทำให้จำเลยต้อง เสียภาษีเงินได้โดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นภาษีจำนวน 9,997,338.10 บาทเมื่อนำภาษีจำนวนดังกล่าวมาคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจำเลยจะมีกำไรสุทธิจำนวน 33,324,460.33 บาท กึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิเท่ากับ16,662,230.07 บาท เมื่อคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว คิดเป็นภาษีที่จำเลยต้องชำระสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ จำนวน 4,997,669.05 บาท อันถือได้ว่า เป็นการคำนวณภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนที่ถูกต้องแล้วเมื่อจำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลา หกเดือนระบุว่า ไม่มีรายได้และภาษีที่ต้องชำระจึงเป็นกรณี ที่จำเลยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษโดยให้ ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้จำเลยชำระเบี้ยปรับ อีกจึงเป็นการซ้ำซ้อน ประกอบกับการเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 จะต้องเป็นกรณีการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องและมีการตรวจสอบไต่สวนแล้วจึงประเมินภาษีเพิ่มตามที่ตรวจพบตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมินจึง ไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่ง ประมวลรัษฎากร อีกต้องเพิกถอนการประเมินในส่วนของเบี้ยปรับนี้เสีย แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่ศาล จะวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยศาลอาจสืบพยาน ตามที่เห็นจำเป็นอันเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ และจะยกขึ้นอ้าง โดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของ ประชาชนก็ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรคแรก ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17เมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์ในส่วนนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 19,448,821 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินจำนวน 9,997,338 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน13,446,419.74 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน9,997,338 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ค้างชำระ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50) โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2538 จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.51) แสดงในแบบว่าจำเลยไม่มีรายได้และไม่มีเงินภาษีที่ต้องชำระตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 106 และ 107 เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 71(1) ประเมินภาษีเงินได้จำเลยในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายคิดเป็นค่าภาษี 9,997,338.10 บาท เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 29 เมษายน 2541 เป็นเงิน 3,449,081.64 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 11 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจนำภาษีที่ประเมินในอัตราร้อยละ 5 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 71(1) มาใช้ในการคำนวณประมาณการกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือน ตามมาตรา 67 ทวิ ได้หรือไม่ และจำเลยต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี หรือไม่เห็นว่าการที่จำเลยไม่มาพบและส่งบัญชีเอกสารสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538ตามหมายเรียกเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 65 ให้แก่เจ้าพนักงานตรวจสอบของโจทก์ ทำให้เจ้าพนักงานตรวจสอบไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่านั้น ย่อมทำให้จำเลยไม่มีสิทธิเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโดยคำนวณจากยอดกำไรสุทธิ แต่ต้องเสียโดยคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆในอัตราร้อยละ 5 คิดเป็นภาษีจำนวน 9,997,338.10 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 24 เมื่อนำภาษีจำนวน 9,997,338.10 บาทมาคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจำเลยจะมีกำไรสุทธิจำนวน 33,324,460.33 บาท กึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิเท่ากับ 16,662,230.17 บาท เมื่อคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วคิดเป็นภาษีที่จำเลยต้องชำระสำหรับรอบระยะเวลาหกเดือนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ จำนวน 4,998,669.05 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 23 ถือได้ว่าเป็นการคำนวณภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนที่ถูกต้องแล้ว และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาหกเดือน (แบบ ภ.ง.ด.51)ระบุว่า ไม่มีรายได้และภาษีที่ต้องชำระตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 106 จึงเป็นกรณีที่จำเลยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควรจำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 67 ตรี คิดเป็นเงินเพิ่ม 999,733.81 บาท ส่วนเบี้ยปรับตามที่เจ้าพนักงานประเมินเนื่องจากการที่จำเลยมิได้ชำระภาษีของรอบระยะเวลาหกเดือนตามมาตรา 22 จำนวน 4,998,669.05 บาทเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษโดยให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้วการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับอีกจึงเป็นการซ้ำซ้อน ประกอบกับการเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22จะต้องเป็นกรณีการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องและมีการตรวจสอบไต่สวนแล้วจึงประเมินภาษีเพิ่มตามที่ตรวจพบดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22แห่งประมวลรัษฎากรอีกจึงให้เพิกถอนการประเมินในส่วนของเบี้ยปรับนี้เสีย
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์โจทก์ว่า จำเลยได้ทราบการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์แล้ว และมิได้อุทธรณ์การประเมินการประเมินดังกล่าวจึงเป็นเด็ดขาดจำเลยย่อมไม่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลได้ซึ่งรวมทั้งยกขึ้นต่อสู้คดีด้วย ทั้งการประเมินมิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่าการที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 12 แล้วไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยยอมรับการประเมินดังกล่าวทั้งเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ แม้คดีนี้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่าข้ออ้างของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยศาลอาจสืบพยานตามที่เห็นจำเป็นอันเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์และจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 205 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 เมื่อปรากฏว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 12เป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลก็มีอำนาจพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์ในส่วนนี้ได้ อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 2008330/2/100107 โดยให้เพิกถอนการประเมินในส่วนของเบี้ยปรับจำนวน 4,998,668.05 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง