คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “พนักงาน”ไว้ให้หมายถึง บุคคลต่างๆตามที่ระบุไว้ ทั้งนี้นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ฉะนั้น จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยซึ่งเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 วรรคสี่ แต่เป็นการอ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามมาตรา 192 วรรคต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นนายสถานีรถไฟควรหินมุ้ยสังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย อันเป็นตำแหน่งพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟรวบรวมเงินจากการจำหน่ายตั๋วส่งเป็นเงินผลประโยชน์ของการรถไฟเมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2504 ตลอดมาถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2504เวลากลางวัน จำเลยจำหน่ายตั๋วโดยสารชนิดตั๋วเดือนลดราคาให้แก่นักเรียนรวม 19 ฉบับ รวมเป็นเงิน 285 บาท แต่จำเลยบังอาจจดแจ้งข้อความเท็จลงในบัญชีสถิติการจำหน่ายตั๋วเดือนลดราคาและรวบรวมเงินรายได้ส่งการรถไฟเพียง 142.50 บาท ส่วนเงินรายได้อีก 142.50 บาทจำเลยทุจริตเบียดบังเอาไว้เป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยเอง ทำให้การรถไฟเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลนาขา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 8 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 142.50 บาทแก่การรถไฟ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทุจริตเบียดบังยักยอกเงินจริง แต่จำนวนเพียง 10 ฉบับ เงิน 75 บาท แต่จำเลยไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์รายที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ผิดตามมาตราที่โจทก์ขอ เป็นเรื่องโจทก์อ้างมาตราผิด ศาลลงโทษตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 พิพากษาว่าจำเลยผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จำคุก 1 ปี รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 75 บาทด้วย

โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ไม่ชอบ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 18 บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้พนักงานรถไฟเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายอาญา จึงนำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยไม่ได้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ151 กรณีเป็นเรื่องอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4 ได้ เห็นสมควรลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากับมาตรา 151 ลดแล้วจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ฎีกาจำเลยที่คัดค้านการนำประมวลกฎหมายอาญามาเป็นบทลงโทษจำเลยแล้ว ปรากฏว่า โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 8 แต่จำเลยเป็นพนักงานรถไฟซึ่งตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติไว้ว่า ให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา ฉะนั้นจะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยไม่ได้ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้นั้นถูกต้องแล้ว ปัญหาต่อไปจึงมีว่า กรณีเป็นเรื่องอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษตามความผิดที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำฟ้องคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) บังคับให้ต้องระบุอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และมาตรา 192 วรรคแรก ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้องส่วนวรรคสี่ เป็นข้อยกเว้นของวรรคแรก ฉะนั้น จึงต้องตีความของวรรคสี่ โดยเคร่งครัด ศาลฎีกาเห็นว่า ในวรรค 4 นี้ระบุไว้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด เมื่อกฎหมายระบุถึงฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ก็ต้องเป็นกรณีที่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดจะตีความไปถึงกรณีที่อ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับไม่ได้ เพราะถ้ากฎหมายต้องการเช่นนั้น ก็คงระบุไว้เสียเลยว่า โจทก์อ้างบทกฎหมายผิด ซึ่งย่อมครอบคลุมตลอดถึงการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอยู่ในตัวด้วย นอกจากนี้ในการฟ้องคดีอาญานั้น ตามหลักกฎหมายต้องการให้จำเลยรู้ตัวว่าจำเลยถูกฟ้องหาว่ากระทำผิดบทกฎหมายใด หากยอมให้โจทก์อ้างบทกฎหมายฉบับหนึ่ง แล้วให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่งได้ ก็ย่อมเป็นการลงโทษจำเลยไม่รู้ว่าถูกหาว่ากระทำผิดตามบทกฎหมายนั้น ทั้งเป็นการบังคับจำเลยอยู่ในตัวที่จะต้องคิดและค้นหาบทกฎหมายเอาเองว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั้นจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายอื่นใดบ้างหรือไม่ จะได้ต่อสู้คดีให้ถูกต้องฉะนั้น เมื่อมาตรา 192 วรรคสี่ ระบุถึงการผิดฐานหรือผิดบท ก็ย่อมหมายความว่า เป็นเรื่องอ้างกฎหมายผิดฐานหรือผิดบทไม่ใช่ผิดตัวกฎหมาย เป็นคนละเรื่องกัน ศาลฎีกาจึงเห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นเพียงอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4 จึงลงโทษจำเลยไม่ได้ตามมาตรา192 วรรคต้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป

พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

Share