แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องที่จำเลยขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า”เห็นว่าคดีนี้มีปัญหาที่ว่าพยานวัตถุอันเป็นพยานเกี่ยวข้องในคดีซึ่งเป็นพยานสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกา จึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้” นั้น เป็นคำสั่งที่มิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า นายส.ผู้ตาย สามีโจทก์ร่วมมีส่วนในการกระทำผิดด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้น เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้เสียแล้ว ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ
ก. จำเลยได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฝาง โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
ข. จำเลยได้ใช้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1น-9899 กรุงเทพมหานครอันเป็นรถที่จดทะเบียนแล้วแต่ยังมิได้เสียภาษีประจำปีพ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2531
ค. จำเลยได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ฝางเมื่อถึงที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง ได้ขับรถล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนกับรถยนต์ซึ่งแล่นสวนทางมา นายสำราญ สุภาศรีหรือสุภาษี ผู้ขับขี่รถคันที่ถูกชน และนายเกษตร ถึงแก่ความตาย และนายสมฤทธิ์นายสมศักดิ์ นายทา นายเสวต และนายแดนได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390, 91พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 42, 43, 60, 64พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ ก. และ ข. แต่ปฏิเสธฟ้องข้อ ค.
ระหว่างพิจารณานางจิราภรณ์ สุภาศรี ภริยานายสำราญ สุภาศรีผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรคสอง, 60, 64 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถยนต์ไม่มีใบอนุญาต ปรับ 800 บาท ฐานใช้รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 1,000 บาท และฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพฐานขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตและฐานใช้รถยนต์ที่จดทะเบียนแล้วแต่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี และปรับรวม 900 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องที่จำเลยขอให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “เห็นว่าคดีนี้มีปัญหาที่ว่าพยานวัตถุอันเป็นพยานเกี่ยวข้องในคดีซึ่งเป็นพยานสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้” นั้น เป็นคำสั่งที่มิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยชอบ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ไม่ได้และที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า นายสำราญ สุภาศรี ผู้ตายสามีโจทก์ร่วมมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมนั้นเห็นว่า เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว การที่โจทก์ร่วมจะเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย